แม้ว่าคอเลสเตอรอลจะมีประโยชน์ในด้านการเสริมสร้างพลังงานแก่ร่างกายของคน แต่ถ้ามีมากจนล้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอเลสเตอรอลตัวที่ไม่ดีนั้น อาจส่งอันตรายถึงชีวิต และนี่ก็คือสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยตายปีละหมื่นๆ แสนๆ คน
แพทย์หญิง คุณสวรรยา เดชอุดม ประธานโครงการอาหารไทยหัวใจดี มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความรู้ว่า คอเลสเตอรอลในร่างกายคนเรามีอยู่สองแบบด้วยกัน คือ
1.Low-density lipoprotein หรือ LDL คือคลอเลสเตอรอลที่ไม่ดี เพราะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและอุดตันเส้นเลือดแดงได้
2.High-density lipoprotein หรือ HDL เป็นคอเลสเตอรอลที่ดีต่อร่างกาย เพราะช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีออกไปจากระบบการทำงาน
“คอเรสเตอรอลมีทั้งที่มีประโยชน์ ถ้ามีในปริมาณที่พอดี แต่ก็เป็นโทษได้ หากมากเกินไป เพราะมันอาจจะทำให้เกิดตะกรันในหลอดเลือด ทำให้เกิดอันตราย อย่างถ้าไปขังกันเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ก็อาจจะทำให้เสียชีวิตกะทันหัน หรืออัมพฤกษ์อัมพาตได้” แพทย์หญิง คุณสวรรยา กล่าว
โดยหลักการ 80% ของคอเลสเตอรอลนั้น ถูกผลิตขึ้นมาจากตับ แต่อีก 20% นั้นก็มาจากอาหารที่คุณเลือกรับประทานเข้าไป ดังนั้น หลักง่ายๆ ในการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้คอเลสเตอรอลสูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่บริโภคไขมันอิ่มตัวมากเกินไป เพราะจะทำให้ตับผลิตคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีออกมามากมาย
แพทย์หญิง คุณสวรรยา กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การมีคอเลสเตอรอลที่สูงจนเป็นปัญหา มีอยู่ 10 ประการด้วยกัน คือ 1.บุหรี่ 2.ความดัน 3.ไขมันปกติ ทั้งดีและเลว 4.เบาหวาน 5.ไตรกีเซอไรด์ 6.อ้วนลงพุง 7.ความเครียด 8.เกลือ 9.น้ำตาล 10.ไม่ออกกำลังกาย
“จำไว้ว่า คอเลสเตอรอลอย่างเดียวไม่ให้โทษ เช่น ถ้าเรามีคอเลสเตอรอลสูง แต่ความดันไม่สูงด้วย ก็ไม่เป็นไร หรือไม่มีเบาหวานและไขมันในร่างกายปกติ ก็ไม่เป็นไร และเหนืออื่นใด คอเลสเตอรอลจะสูงหรือไม่นั้นก็เกิดจากน้ำมือของเราเอง มือของเราที่หยิบอาหารใส่ปาก” คุณหมอประธานโครงการอาหารไทยหัวใจดี กล่าว
ทั้งนี้ อาหารที่กินแล้วดีมีประโยชน์ ไม่ให้โทษในด้านคอเรสเตอรอล จะต้องกินอะไรบ้าง? คุณหมอบอกไว้ ดังนี้
1.ทานปลาทะเลสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
2.ทานถั่วเมล็ดแห้งสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
3.ทานผักในตระกูลครูซิเฟอรัสทุกวัน ได้แก่ ผักคะน้า บร็อกโคลี ดอกกะหล่ำ แขนงผัก กะหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง เป็นต้น
4.ทานผักที่มีสีสันต่างๆ และผลไม้ให้หลากหลายทุกวัน
5.ผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืชไม่ขัดสีทุกวัน เช่น ข้าวซ้อมมือ
6.ใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว ในการประกอบอาหาร
7.รับประทานผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนย หรือนมขาดไขมันแทนผลิตภัณฑ์นมเต็มไขมัน
8.ควบคุมปริมาณอาหารที่ทานในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ไม่เกินวันละ 200 กรัม
9.ทานกระเทียมสดเป็นประจำ
ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo