xs
xsm
sm
md
lg

“หมอบอนด์” อ้างเป็นผู้ช่วยวิจัยจนได้วุฒิโท-เอก กกอ.อัดไม่มี ม.ไหนให้วุฒิแบบนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสส.ส่งหนังสือเตือนถึงหมอบอนด์
สสส.ทำหนังสือเตือน “หมอบอนด์” หยุดใช้ตำแหน่งแพทย์วิชาการประจำ สสส.ยันไม่เคยมีการแต่งตั้งตำแหน่งนี้ จี้ชี้แจงผ่านสื่อ ขณะที่เจ้าตัวยันมีหลักฐานทำงานร่วม สสส.แต่ไม่ขอตอบโต้ เผยป่วยหลายโรคขออยู่เงียบๆ ลั่นไม่เคยแอบอ้างวุฒิและตำแหน่ง ส่วนวุฒิ ป.โท-ป.เอก ได้จากการเป็นผู้ช่วยวิจัยของผู้เรียน ด้านรองเลขาฯ กกอ.ยันมหาวิทยาลัยไม่มีการมอบวุฒิให้ผู้ช่วยวิจัย

จากกรณีข้อสงสัยเรื่องวุฒิการศึกษาของ ดร.นพ.ปิยะวงศ์ เศรษฐวงศ์ หรือ หมอบอนด์ พิธีกรร่วมประจำรายการ “เค้าว่ากันว่า” ออกอากาศทางช่อง workpoint tv ที่อาจมีการกล่าวอ้างเกินจริง รวมถึงมีการเขียนบทความเชิงจิตวิทยาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุสถานะเป็นแพทย์ประจำบ้าน สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งล่าสุดทางสถาบันได้ออกหนังสือชี้แจงแล้วว่า “หมอบอนด์” ไม่ได้เป็นจิตแพทย์อย่างที่อ้างอิงไว้ท้ายบทความแต่อย่างใด รวมถึงยังระบุว่า เป็นแพทย์วิชาการประจำสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยนั้น

ล่าสุด ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.ได้ทำหนังสือที่ สสส.ฝ.2/3210/2556 เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง “ขอให้ยุติการใช้ตำแหน่ง แพทย์วิชาการประจำ สสส.” ถึง นพ.ปิยะวงศ์ เศรษฐวงศ์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ท่านได้มีการเผยแพร่ข้อมูลวิชาการต่างๆ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์และสื่อสารมวลชน โดยมีการระบุตำแหน่ง “แพทย์วิชาการประจำสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” นั้น ขอเรียนชี้แจงว่าตามบัญญัติ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 มิได้มีการกำหนดตำแหน่งดังกล่าว รวมทั้งมิได้อนุญาตให้บุคคลใดใช้ตำแหน่งดังกล่าว เพื่อการกล่าวอ้างต่อสังคม ดังนั้นจึงขอความร่วมมือท่านยุติการใช้ตำแหน่งดังกล่าว ทั้งที่มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ เผยแพร่ผ่านทางสื่อสารมวลชน หรือช่องทางอื่นๆ รวมทั้งขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านช่องทางที่ท่านได้สื่อสารต่อสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันอีกทางหนึ่งด้วย

ด้าน นพ.ปิยะวงศ์ กล่าวว่า ตนทำงานร่วมกับ สสส.มานาน หลักฐานตนก็มีทุกอย่าง ผลงานก็เห็นๆ อยู่หลายเรื่อง เช่น การร่วมงานวิจัยเกี่ยวกับนิทานสำหรับเด็ก การประชุมกรุงเทพฯเมืองนักอ่าน เป็นต้น การที่ สสส.ทำหนังสือมาแบบนี้ก็รู้สึกเสียใจ แต่คงจะไม่มีการดำเนินการตอบโต้ใดๆ ตอนนี้ขออยู่เฉยๆ เพราะตอนนี้ตนมีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งโรคหัวใจและไทรอยด์ ก็ขอรักษาตัวเองก่อน

นพ.ปิยะวงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวุฒิการศึกษาต่างๆ ตนไม่เคยอวดอ้าง และไม่เคยแอบอ้างเป็นจิตแพทย์ เพื่อหาผลประโยชน์ใดๆ ตามที่มีคนกล่าวหา การเขียนบทความของตนก็เพื่อต้องการให้ความรู้กับคนทั่วไปตามความรู้ของแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเราก็พยายามทำความดีตรงนี้มาตลอด นอกจากการรักษาคนไข้ ไม่ได้ต้องการชื่อเสียงหรือผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น

“ผมขอโทษในเหตุการณ์ทั้งหมด ผมไม่ได้ต้องการอวดอ้างหรือแอบอ้างใดๆ ตอนนี้ผมขออยู่เงียบๆ ไม่คอมเมนต์อะไรกับเรื่องนี้อีก ขอไปพักผ่อนรักษาตัว” นพ.ปิยะวงศ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวุฒิการศึกษาที่หลายคนมีความกังขานั้น นพ.ปิยะวงศ์ กล่าวว่า วุฒิทุกอย่างเป็นวุฒิจริง แต่มีที่ไม่จริงตามที่ปรากฏทางสื่อคือวุฒิ วท.บ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ยอมรับว่าตนเคยเรียนที่นี่ประมาณ 3 ปีกว่า แต่ลาออกมาก่อน จากนั้นจึงมาเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งระหว่างเรียนก็มีการไปเทรนที่ต่างประเทศหลายครั้ง เมื่อเรียนจบแล้วก็ได้เรียนแพทย์เฉพาะทางต่อในสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทุนของกรมสุขภาพจิต โดยระหว่างนี้ตนก็ได้ไปสมัครเรียนสาขาอื่นที่ต่างประเทศด้วย ก็มีทั้งไปเรียนที่ต่างประเทศ เรียนผ่านทางอินเทอร์เน็ตหลายหลักสูตร แต่สำหรับการเรียนต่อเฉพาะทางนั้น ตนเรียนไปได้เพียง 7-8 เดือนเท่านั้น ก็ลาออก เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่แนวทางของตน

นพ.ปิยะวงศ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับวุฒิการศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่ด้านการแพทย์ วุฒิเหล่านี้ตนได้จากการไปเป็นผู้ช่วยงานวิจัยของผู้ที่ศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ตนจึงได้รับวุฒิจากทางมหาวิทยาลัยด้วย แต่วุฒิดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการหรือสมัครงานของข้าราชการได้ เนื่องจาก ก.พ.ไม่รับหลักสูตรเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดสอนเพียงแค่ 10 ที่เท่านั้น

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า การจะได้วุฒิปริญญาโทและปริญญาเอกนั้นมีอยู่ 2 แบบคือ การทำวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ และการทำสารนิพนธ์ ซึ่งในการทำวิจัยนั้นจะต้องมีการศึกษาเนื้อหาต่างๆ จำนวนมาก ก่อนที่จะเสนอโครงร่างงานวิจัย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพจะมีการเข้มงวดกับการทำวิจัยมาก ทำให้ต้องมีการแก้ไขงานอยู่หลายครั้งจึงจะสำเร็จ ซึ่งการแก้ไขงานวิจัยนอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้วยังมีผู้ช่วยวิจัยที่สามารถให้คำแนะนำได้ แต่ผู้ช่วยวิจัยนี้ต้องเป็นผู้ที่จบปริญญาโทและปริญญาเอกมาแล้ว นั่นคือ เป็นผู้ที่ผ่านการทำวิจัยมาแล้วจึงจะสามารถให้คำแนะนำได้ การที่ไม่มีวุฒิแล้วมาเป็นผู้ช่วยวิจัยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคนที่ทำไม่เป็นจะมาช่วยคนที่ทำไม่เป็นได้อย่างไร

“ที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยไม่มีการมอบวุฒิหรือมอบประกาศนียบัตรใดๆ ให้แก่ผู้ช่วยงานวิจัยทั้งสิ้น การได้มาซึ่งวุฒิแบบนี้หมายความว่าอาจได้มาโดยไม่ถูกวิธี ซึ่งเรื่องการสอบถามวุฒินั้นนอกจากขอดูหลักฐานที่เป็นเอกสารแล้ว ยังสามารถใช้วิธีการสอบถามสัมภาษณ์ได้ หากสามารถตอบได้ว่าเคยศึกษาที่ไหน มีงานวิจัยชื่ออะไร ใครเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา มีเพื่อนในคลาสเรียนชื่ออะไร หากสามารถตอบได้ทั้งหมดก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นวุฒิจริง เพราะการจะปลอมเรื่องทุกอย่างให้ตรงกันทั้งหมดเป็นไปได้ยาก” รองเลขาธิการ กกอ.กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น