xs
xsm
sm
md
lg

บัญญัติ 8 ประการ ก่อนพ่อแม่ตัดสินใจให้ลูกใช้รถโรงเรียน /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าโดยมีเด็กเล็กตกเป็นเหยื่อเกิดขึ้นบ่อยเหลือเกิน บ่อยอย่างไม่น่าให้อภัย..!!
กรณีที่เกิดขึ้นกับเรื่องรถตู้โรงเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าสะท้อนอะไรในสังคมไทย..

แล้วบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเด็กได้อุทาหรณ์จากเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และนำมาเพิ่มมาตรการหรือระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจังบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน บ้าน และมาตรการจากภาครัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ล่าสุดเกิดเหตุกับน้องพอใจ วัย 3 ปี ซึ่งเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 1 เท่านั้น หนำซ้ำยังเป็นโรงเรียนชื่อดังที่คนเป็นพ่อแม่ต่างก็พยายามหาทางแย่งกันเพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนแห่งนี้ซะด้วย

นั่นหมายความว่าไม่ว่าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง ล้วนแล้วก็ยังไม่ตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง และก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้เท่าๆ กัน หากไม่มีมาตรการที่ดีในการป้องกันหรือดูแลเด็กเล็ก

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตู้โรงเรียนที่เกิดติดๆ กัน มีทั้งเด็กถูกลืมไว้ในรถ มีทั้งปล่อยรถรับส่งนักเรียนไม่มีคุณครูหรือครูพี่เลี้ยงนั่งประจำรถ หรือความประมาทของผู้ใหญ่ในขณะเด็กขึ้นหรือลงรถ ฯลฯ จนสุดท้ายนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมบ่อยครั้ง
แล้วเราจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ กระนั้นหรือ..!!

ฉะนั้น ก่อนที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะตัดสินใจใช้บริการรถตู้ โปรดคิดให้ดี และตระหนักต่อสิ่งเหล่านี้ 7 ประการก่อนดีกว่าค่ะ

หนึ่ง ตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจให้ลูกวัยเด็กเล็กใช้บริการรถโรงเรียน สิ่งที่ต้องรู้คือรถโรงเรียนที่ให้บริการนั้นโรงเรียนดำเนินการเอง หรือให้บริษัทข้างนอกดำเนินการ ซึ่งไม่ว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการก็ต้องตรวจสอบประวัติเสียก่อนว่าคนขับรถเป็นใคร ชื่ออะไร ขับรถอย่างไร มีคุณสมบัติที่จะขับรถโรงเรียนได้ไหม นั่นหมายความว่าขั้นตอนนี้ทางโรงเรียนก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบมาก่อนแล้ว

สอง ตรวจสอบว่าทางโรงเรียนมีนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับรถโรงเรียนอย่างไร มีคุณครูหรือครูพี่เลี้ยงประจำรถตลอดเวลาที่ต้องรับส่งนักเรียนหรือไม่ ขอย้ำว่าต้องมีผู้ใหญ่ที่นอกเหนือจากคนขับรถนั่งประจำรถด้วยทุกครั้ง ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่กันเองในรถตู้เท่านั้น แม้จะมีเด็กโตอยู่ด้วย ก็ไม่ควรไว้วางใจเด็ดขาด

สาม ตรวจสอบว่ามีการเช็กชื่อเด็กนักเรียนทั้งขึ้นและลงรถหรือไม่ เวลาพ่อแม่ผู้ปกครองส่งเด็กขึ้นรถโรงเรียนขอให้ส่งเด็กถึงมือคุณครูหรือครูพี่เลี้ยงประจำรถโดยให้เด็กเข้าไปนั่งภายในรถให้เรียบร้อยก่อน และเมื่อรถโรงเรียนมาส่งลูกที่บ้านก็ต้องรับลูกจากมือของคุณครูหรือพี่เลี้ยงเด็กทุกครั้ง อย่าปล่อยเด็กขึ้นลงรถโดยลำพังเด็ดขาด เพราะเด็กเล็กอาจพลาดล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ เราต้องไม่ลืมว่ารถตู้เป็นรถสูงและทึบ โอกาสที่คนขับรถจะมองไม่เห็นเด็กเล็กทั้งภายในและภายนอกรถได้เช่นกัน
สี่ ตรวจสอบสภาพรถโรงเรียนเป็นอย่างไร ดัดแปลงสภาพหรือไม่ มีอุปกรณ์ความปลอดภัยหรือไม่ ประตูรถมีระบบการล็อกที่ได้มาตรฐานหรือไม่, จำนวนที่นั่งกับจำนวนเด็กควรต้องพอดี ไม่ควรแออัดหรือนั่งเบียดเสียดกัน ในความเป็นจริงเด็กควรนั่ง 1 คนต่อ 1 เบาะ และควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งด้วย แต่ปัจจุบันเรากลับพบว่ารถตู้โรงเรียนส่วนใหญ่มักดัดแปลงและบรรทุกเด็กเกินจำนวน ซึ่งประเด็นนี้ภาครัฐต้องมีมาตรการควบคุมอย่างจริงจัง และต้องไม่ปล่อยให้รถโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานออกมาวิ่งบนท้องถนนได้อย่างเด็ดขาด และโรงเรียนเองก็ต้องไม่มักง่ายด้วยเช่นกัน

ห้า ตรวจสอบว่าโรงเรียนมีวิธีให้ผู้ปกครองตรวจสอบหรือไม่อย่างไรเมื่อรับลูกจากที่บ้านแล้ว สามารถให้ผู้ปกครองโทรศัพท์หรือมีวิธีไหนที่ทำให้ผู้ปกครองได้ทราบว่าลูกไปถึงโรงเรียนแล้ว วิธีนี้ควรทำทุกกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้ลูกติดรถไปกับผู้อื่น หมั่นตรวจสอบด้วยการโทรศัพท์ไปสอบถามเป็นระยะว่าตอนนี้อยู่ที่ไหนอย่างไร เพราะการที่ต้องฝากลูกไว้กับผู้อื่น ซึ่งต้องเข้าใจว่าเขาไม่ได้ดูแลลูกเราเป็นประจำ อาจทำให้หลงลืมหรือเผลอเลอได้ และถ้าเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกันก็ควรจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่าอยู่กับเด็กเล็กต้องระมัดระวังด้วย

หก ตรวจสอบว่ามีเด็กที่ใช้บริการรถตู้โรงเรียนมีใครบ้าง ใช้เส้นทางไหนบ้าง มีเพื่อนลูกอยู่ด้วยหรือเปล่า กรณีที่ไม่มีก็ต้องทำความคุ้นเคยกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่ต้องเดินทางด้วยกันทุกวัน ขอเบอร์โทรศัพท์พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่ต้องใช้เส้นทางลงก่อนหน้าลูกหรือลงทีหลังลูกของเรา เผื่อมีกรณีผิดเวลาจะได้สามารถสอบถามกันได้ และควรสอนให้ลูกได้เป็นบัดดี้ดูแลกันในรถด้วย ถ้าไม่เห็นเพื่อนคนนี้ในรถให้ถามคุณครูหรือพี่เลี้ยงประจำรถ หรือเพื่อนคนนี้หลับก็ให้ปลุกด้วย ฝึกให้เขาได้เกิดความเคยชินและเป็นเด็กช่างสังเกตด้วย กรณีนี้ทางโรงเรียนก็ควรดำเนินการด้วยเช่นกัน

เจ็ด พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยให้กับลูกตั้งแต่เล็ก อย่าคิดว่าลูกยังเล็กเกินไป เราสามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่เล็ก เช่น ให้ลูกรู้จักแตรรถยนต์ และสอนลูกด้วยว่า ถ้าเมื่อไรอยู่ในรถยนต์คนเดียว ให้กดแตรตรงไหน รวมถึงที่ล็อคตรงประตู ก็ควรสอนให้ลูกได้รู้จัก แต่ต้องสอนย้ำๆบ่อยๆ และเน้นย้ำว่าเมื่ออยู่คนเดียวหรือต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น

แปด สอนลูกในชีวิตประจำวันด้วยการไม่ปล่อยเด็กไว้ในรถโดยลำพังเด็ดขาด ไม่ว่าคุณจะต้องไปทำธุระนอกรถเร็วหรือช้า แต่ควรนำเด็กลงจากรถไปด้วยทุกครั้ง แม้เด็กจะหลับอยู่ ก็อย่ากังวลว่ากลัวเป็นการปลุกลูก กลัวลูกงอแง แต่คุณต้องเอาลูกลงจากรถด้วยทุกครั้ง ไม่ใช่เพียงความปลอดภัยเท่านั้น แต่เป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ว่าทุกครั้งที่จอดรถ ลูกต้องลงจากรถ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ด้วยว่าจะต้องไม่อยู่ในรถคนเดียวเด็ดขาด

ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในการใช้รถใช้ถนนได้ บางครอบครัวมีความจำเป็นที่ต้องใช้บริการรถโรงเรียนจริงๆ เราก็ต้องมีมาตรการของเราเช่นกันในการดูแลความปลอดภัยของลูกของเราเองด้วย

เรื่องความปลอดภัยในชีวิตของลูกที่อยู่ในวัยเด็กเล็ก เราต้องไม่ฝากไว้กับผู้อื่น เพราะพวกเขายังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนเป็นพ่อแม่ต้องใส่ใจและตระหนักให้มาก

ปัจจุบันบ้านเรามีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก วิธีที่ดีที่สุดขณะนี้ก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องพยายามหาทางป้องกันและดูแลความปลอดภัยด้วยตัวเราเองให้ได้มากที่สุด เพราะเรามีชีวิตลูกเป็นเดิมพัน..!!
กำลังโหลดความคิดเห็น