xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! สถิติ 5 ด.แรกของปี 56 เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำตายกว่า 400 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! สถิติ 5 ด.แรกของปี 56 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำตายกว่า 421 คน คร.เตือนพ่อแม่อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำลำพัง ชี้เป็นสาเหตุหลักของการตาย ร้อยละ 60 พร้อมแนะวิธีการช่วยเหลือเด็กจมน้ำที่ถูกวิธี

วันนี้ (8 ก.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งจากสถิติการจมน้ำของกระทรวงสาธารณสุข 10 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2546-2555) พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตจำนวน 12,982 คน หรือปีละประมาณ 1,300 คน และในปี พ.ศ. 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม พบเด็กจมน้ำแล้ว 421 คน แยกเป็นรายเดือน ดังนี้ มกราคม 58 คน, กุมภาพันธ์ 62 คน, มีนาคม 103 คน, เมษายน 115 คน และพฤษภาคม 83 คน ตามลำดับ

โดยสาเหตุการจมน้ำของเด็กในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานี้ สาเหตุไม่แตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา พบมากที่สุดเป็นเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักเนื่องจากการไปเล่นน้ำตามลำพังโดยที่ไม่มีผู้ใหญ่ดูแลถึงร้อยละ 60 แหล่งน้ำที่เกิดเหตุส่วนใหญ่มักเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น หนองน้ำ บ่อน้ำ แอ่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่เกิดเหตุเนื่องมาจากการพลัดตกลงน้ำ เช่น เดินอยู่ริมน้ำแล้วพลัดตก ออกไปวิ่งเล่นและพลัดตกลื่น หรือผู้ปกครองทิ้งน้องไว้ให้อยู่กับพี่ตามลำพัง โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 41.0) ของเด็กที่จมน้ำจะเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ให้ความรู้แก่ประชาชน ส่งเสริมให้มีการนำหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดไปใช้ รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากผลสำรวจข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ปี พ.ศ.2556 พบว่า ประชาชนร้อยละ 92.6 ยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องของการปฐมพยาบาลซึ่งวิธีช่วยเหลือเด็กจมน้ำที่ถูกวิธี มีดังนี้ เมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำและเด็กไม่หายใจควรเป่าปากในทันที เพื่อช่วยหายใจ เพราะเด็กที่จมน้ำหมดสติ เนื่องจากขาดอากาศหายใจ จึงยังคงต้องรีบเป่าปากเพื่อช่วยหายใจอยู่ และหากไม่แน่ใจว่ามีชีพจรให้นวดหัวใจ กดหน้าอกให้ยุบลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที สลับกับการเป่าปากในอัตราส่วน 30:2 หรือจำง่ายๆ คือ 1.เป่าปาก 2 ครั้ง 2.ปั๊ม 30 ครั้ง ทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะรู้สึกตัวหรือจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการป้องกันไม่ให้เด็กจมน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด “อย่าปล่อยเด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่มือเอื้อมถึงและคว้าถึง” ส่วนอีกมาตรการที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ “ตะโกน โยน ยื่น” (ตะโกน: ให้ผู้ใหญ่ช่วย, โยน: วัสดุที่ลอยน้ำได้, ยื่น: ไม้ กิ่งไม้ ให้คนตกน้ำจับ) ซึ่งมาตรการนี้ยังคงต้องเน้นย้ำและสอนเด็กเสมอ ที่สำคัญภาคท้องถิ่นและชุมชนควรต้องร่วมมือกันคุ้มครองสิทธิเด็กให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปทุกคน มีโอกาสเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งจะครอบคลุมเนื้อหาความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ และทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำ รวมถึงท้องถิ่นต้องมีการจัดการบริเวณแหล่งน้ำเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ ที่หาได้ง่ายไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน หากพบเห็นคนตกน้ำ จมน้ำ ควรให้การปฐมพยาบาลตามวิธีข้างต้นและรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านหรือโทร.แจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด หากสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422
 

กำลังโหลดความคิดเห็น