กทม.ใจอ่อน! อนุโลมให้ขายของบนทางเท้าจันทร์เว้นจันทร์ได้ หลังพ่อค้าแม่ค้าโอดหยุดทุกวันจันทร์ทำรายได้หด พร้อมแจงมีเงื่อนไข สำนักงานเขต แจ้งมายัง กทม.ก่อน เบื้องต้น “ดุสิต-บางซื่อ-บางรัก-ห้วยขวาง-จตุจักร” เสนอตัวแล้ว ลั่นถ้าพบไม่รักษาความสะอาดจะให้กลับไปหยุดทุกจันทร์เหมือนเดิม
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่ กทม.มีนโยบายจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยบนทางเท้า โดยกำหนดให้ผู้ค้าหยุดทำการขายทุกวันจันทร์ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 25556 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน มีผู้ค้าร้องเรียนว่าการหยุดค้าขายทุกวันจันทร์ ส่งผลกระทบต่อรายได้ จึงเสนอขอให้ กทม.อนุโลมให้ขายได้ในวันจันทร์เว้นวันจันทร์ ซึ่ง กทม.ได้พิจารณาและอนุโลมให้ผู้ค้าสามารถขายของบนทางเท้าวันจันทร์เว้นวันจันทร์ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าทางสำนักงานเขตจะต้องแจ้งเข้ามายัง กทม.ว่ามีพื้นที่ใดจะทำในลักษณะดังกล่าว เบื้องต้นแจ้งเข้ามาแล้ว 5 เขต คือ ดุสิต บางซื่อ บางรัก ห้วยขวาง และจตุจักร
ทั้งนี้ หากเขตใดไม่หยุดวันจันทร์ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตจะต้องเป็นผู้ดูแลเรื่องวันที่จะหยุด และทำความสะอาดพื้นที่ในวันนั้นแทน เพราะวัตถุประสงค์หลักของ กทม.ต้องการกำหนดช่วงวันหยุดเพื่อทำความสะอาดพื้นที่เป็นหลัก เพราะฉะนั้น หากพบผู้ค้าเขตใดที่ได้รับอนุโลมขายของวันจันทร์เว้นวันจันทร์แล้วไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาความสะอาดพื้นที่ กทม.ก็จะให้กลับมาใช้มาตรการเดิม คือหยุดขายทุกวันจันทร์ อย่างไรก็ตาม เฉพาะในพื้นที่ 5 จุด คือ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โบ๊เบ๊ ปากคลองตลาด และคลองหลอด ซึ่ง กทม.ได้กำหนดให้เป็นพื้นจุดผ่อนผันโดยกำหนดเวลาในการขายยังดำเนินการได้ตามปกติ
น.ส.ตรีดาว กล่าวถึงกรณีการเพิ่มเส้นทางจักรยานด้วยว่า ขณะนี้ กทม.ได้สร้างเส้นทางจักรยานแล้วเสร็จทั่วพื้นที่ กทม.จำนวน 31 เส้นทาง รวมระยะทาง 232.66 กม.แบ่งเป็นเส้นทางจักรยานเฉพาะ เส้นทางที่รวมอยู่บนทางเท้า และเส้นทางที่อยู่บนผิวจราจร ทั้งนี้ กทม.มีนโยบายที่จะเพิ่มเส้นทางอีก 30 เส้นทาง ภายใน 4 ปี เพื่อให้ครอบคลุมและใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ คือ เพื่อการสัญจร ทางออกกำลังกาย และกิจกรรมสันทนาการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางจักรยานบริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วนกับเส้นทางจักรยานของ กทม.ให้ต่อเนื่องกัน อย่างไรก็ตามในการสร้างทางจักรยานพิเศษทาง กทม.ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนนร่วมกัน