xs
xsm
sm
md
lg

สาระน่ารู้กับโรงพยาบาลธนบุรี : โรค มือ เท้า ปาก (Hand, foot, and mouth disease)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรค มือ เท้า ปาก (Hand, foot, and mouth disease) เกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus)หลายชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 และ คอกแซคกี้ไวรัส (Coxsackie virus) พบบ่อยในเด็กทารก และ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ใน โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในที่อยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้ โดยโรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝน

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus)หลายชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 และ คอกแซคกี้ไวรัส (Coxsackie virus) พบบ่อยในเด็กทารก และ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ใน โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในที่อยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้ โดยโรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝน

การแพร่ติดต่อ ส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้อติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และเกิดจากการไอจามรดกันโดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย

อาการของโรค หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วย มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่ทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และ กระพุ้งแก้ม จะพบตุ่มหรือผื่นนูนแดงเล็ก (ไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ลำตัว และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติ ภายใน 7-10 วัน

การรักษา
• โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก
• ผู้ปกครอง ควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ
• ส่วนใหญ่โรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน หายได้เองใน 7-10 วัน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไป โรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกันโรค
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ (ก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการดูแลเด็กป่วย) ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และ ใช้ช้อนกลาง

สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย

การควบคุมโรค
• หากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูก ปากเวลาไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกันและผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : โรงพยาบาลธนบุรี1 0-2412-0020 และ http://www.thonburihospital.com/2013/Promotion.aspx

(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น