xs
xsm
sm
md
lg

โรคมือ เท้า ปากระบาดหนัก 4 จว.อีสานใต้ พบเด็กป่วยพุ่ง 1,100 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กๆ ต้องหมั่นล้างมือป้องกันโรคมือเท้าปาก (แฟ้มภาพ)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โรคมือ เท้า ปากระบาดหนักในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานใต้ พบเด็กป่วยพุ่งกว่า 1.1 พันราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต และมีแนวโน้มป่วยเพิ่มในเขตเมือง เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานห่วงกลุ่มเสี่ยงเด็กทารก-5 ขวบอาการรุนแรง เตือนระวังเครื่องเล่นตามศูนย์การค้าและตลาดนัดแหล่งเชื้อโรค

วันนี้ (10 มิ.ย.) นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปากในพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 9 ภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึงขณะนี้ว่า พบผู้ป่วยแล้วจำนวน 1,104 ราย แบ่งเป็น จ.บุรีรัมย์พบผู้ป่วย 281 ราย ชัยภูมิพบผู้ป่วย 117 ราย นครราชสีมาพบผู้ป่วย 428 ราย และ จ.สุรินทร์พบผู้ป่วย 278 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ ในแต่ละจังหวัดมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากมาอยู่รวมกัน การแพร่กระจายของเชื้อโรคมือ เท้า ปากจึงมีโอกาสเกิดได้มาก

สำหรับโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากีกลุ่มเอ, บี และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) ซึ่งชอบอากาศเย็นชื้น การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสโดยการสัมผัสอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วย เข้าสู่ปาก ผ่านทางมือ สิ่งของเครื่องใช้ หรือของเล่น ส่วนใหญ่มักเกิดตามสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยงที่เกิดโรครุนแรง คือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต ผู้ปกครองที่พาเด็กไปเล่นเครื่องเล่นตามศูนย์การค้า และเครื่องเล่นตามตลาดนัดเคลื่อนที่ควรดูแลอย่าให้เด็กอม หรือกัดของเล่น และล้างมือทุกครั้งภายหลังจากเล่นเสร็จแล้ว หรืองดเล่นในสถานที่ และเครื่องเล่นดังกล่าว

นพ.ธีรวัฒน์กล่าวต่อว่า อาการของโรคนี้จะเริ่มด้วยไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากรับประทานอาหาร จะเกิดผื่นแดง ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน

ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ฯลฯ ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็กควรเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้รับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ น้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนมเพื่อลดการปวดแผลในปาก

ตามปกติโรคนี้มักไม่รุนแรง แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตอาการของเด็กโดยเฉพาะกลุ่มเด็กทารก เด็กเล็ก หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมดื่มนมหรือรับประทานอาหาร อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก อาจเกิดภาวะสมองอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที

สำหรับสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล หากพบว่ามีเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ในห้องเรียนเกิน 2 คนให้ปิดห้องเรียนนั้นแล้วทำความสะอาด หากพบผู้ป่วยในระดับชั้นเรียนเดียวกันเกิน 3 คน ต้องปิดการเรียนการสอนทั้งระดับชั้น และหากพบผู้ป่วยกระจายในระดับชั้นเรียนต่างๆ เกิน 5 ห้องเรียนจะต้องปิดสถานศึกษาชั่วคราวประมาณ 5-7 วัน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดกลุ่มใหญ่ นพ.ธีรวัฒน์กล่าวในตอนท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น