xs
xsm
sm
md
lg

ดูจะจะ! แอปฯเลียนแบบดูดบุหรี่ ช่องทางดื้นหนี กม.ของ บ.ยาสูบ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฎหมายยาสูบช่องโหว่เพียบ บริษัทบุหรี่หันส่งเสริมการขายผ่านพริตตี้ CSR อินเทอร์เน็ต หนักสุดผุดแอปพลิเคชันเลียนแบบการสูบบุหรี่ผ่านโทรศัพท์มือถือ นักวิชาการชี้ทำให้เด็กเข้าถึงง่ายและซึมซับการสูบบุหรี่โดยไม่รู้ตัว เร่ง สธ.ออกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ห้ามส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ หลังวิจัยชี้มีกฎหมายควบคุมลดการสูบได้ถึง 9% “หมอประกิต” ย้ำต้องทำหลายมาตรการถึงได้ผล ทั้งภาษี ห้ามส่งเสริมการขายภาพคำเตือน

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวแถลงข่าวการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ"”ครั้งที่ 12 เรื่อง “กลลวงโฆษณาของพ่อค้าบุหรี่” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า อนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการห้ามการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการสนับสนุนโดยยาสูบทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับมาตรการควบคุมการโฆษณายาสูบของไทยมีกฎหมายควบคุมเกือบครบถ้วนใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 เช่น ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้, ห้ามโฆษณาสินค้าที่ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และห้ามส่งเสริมการขายยาสูบโดยใช้เครื่องขาย เป็นต้น แต่การโฆษณาทางอ้อมหรือการโฆษณาแฝง กฎหมายไทยยังไม่มีการห้ามในเรื่องนี้ จึงมีการดำเนินการร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ... (ฉบับใหม่) ซึ่งมีการควบคุมเรื่อง การห้ามเผยแพร่ข่าวสาร การให้การสนับสนุนโดยยาสูบ หรือ CSR ในทุกสื่อ และปรับปรุงคำนิยาม “การโฆษณา” ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล “พริตตี้” ในการส่งเสริมการขายยาสูบ เป็นต้น

ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ นักวิชาการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ผลสำรวจการสูบบุหรี่ของเยาวชน 13-15 ปีของไทยพบว่า ร้อยละ 31 เคยพบเห็นการโฆษณาบุหรี่ ร้อยละ 9.3 มีสิ่งของที่มีตราหรือโลโก้บุหรี่ และร้อยละ 5.5 เคยได้รับบุหรี่ทดลองฟรีจากบริษัทบุหรี่ นอกจากนี้ ผลงานวิจัยที่รายงานโดยองค์การอนามัยโลกเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีกฎหมายห้ามโฆษณายาสูบ เช่น ประเทศไทย กับประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้าม พบว่าภายใน 10 ปี อัตราการบริโภคยาสูบในประเทศที่มีกฎหมายลดลงกว่าร้อยละ 9 ขณะที่ประเทศที่ไม่มีกฎหมาย อัตราการสูบจะลดลงน้อยมากเพียงร้อยละ 1 และจากการทำการประเมินผลของมาตรการต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า 1 ใน 4 ของอัตราการสูบที่ลดลงเป็นผลมาจากมาตรการการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย ทั้ง 2 มาตรการถือว่าช่วยทั้งป้องกันผู้สูบหน้าใหม่และผู้ที่สูบอยู่เลิกสูบ

ประเด็นสำคัญที่สุดคือการห้ามโฆษณา การส่งเสริมการขาย และสื่อสารการตลาดทุกรูปแบบ ที่จะมีประสิทธิภาพในการลดการบริโภคยาสูบลง แต่ปัญหาคือปัจจุบันบริษัทบุหรี่ใช้วิธีการสื่อสารการตลาดแบบใหม่ๆ ซึ่งมีอิทธิผลต่อการรับรู้ของเยาวชนอย่างมาก เช่น การโฆษณาขายผ่านอินเทอร์เน็ต การทำแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพื่อสร้างแบรนด์ให้ติดในใจผู้บริโภคผ่านเกมและภาพเคลื่อนไหวในแอปพลิเคชัน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแอปพลิเคชันเลียนแบบการสูบบุหรี่ โดยใช้โทรศัพท์มือถือมาจ่อที่ปากทำท่าเลียนแบบการสูบ ในจอก็จะปรากฏภาพควันบุหรี่ออกมา เป็นต้น ตรงนี้เป็นการซึมซับให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กให้เข้าถึงบุหรี่มากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เท่าทันและเป็นปัจจุบันมากขึ้น” ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ กล่าว

ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ กล่าวอีกว่า แม้แอปพลิเคชันที่เปิดให้โหลดต่างๆ จะมีการกลั่นกรองบ้างพอสมควรจากสโตร์ อย่างกรณีเกมที่มีเลือดสาดก็จะมีการเตือนว่าเหมาะสำหรับอายุ 17 ปีขึ้นเป็นต้น แต่แอปพลิเคชันสูบบุหรี่แบบนี้แทบจะกลั่นกรองไม่ได้เลย เลยกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่บริษัทบุหรี่อาศัยการแทรกแบรนด์เข้าไป ที่สำคัญแอปพลิเคชันพวกนี้เป็นแอปพลิเคชันจากต่างประเทศ เป็นการโฆษณาข้ามพรมแดน การแก้ปัญหาตรงนี้ต้องอาศัยการทำงานของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการ ส่วนการโฆษณาบุหรี่และยาสูบในอินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะปิดมากเท่าไรก็ปิดไม่หมด ยกตัวอย่างวันนี้ปิดไป 20 เว็บ พรุ่งนี้ก็มีเพิ่มขึ้นมาอีก เป็นต้น

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ตามที่บริษัทบุหรี่ฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกกฎหมายเพิ่มขนาดคำเตือนจากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 ของกระทรวงสาธารณสุขโดยอ้างว่า การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนไม่ทำให้ลดการสูบบุหรี่นั้น จากรายงานการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารขององค์การอนามัยโลกที่รวบรวมข้อมูลจาก 41 ประเทศระหว่าง ปี 2550-2553 ที่ใช้มาตรการควบคุมยาสูบหลายๆ มาตรการพร้อมกัน พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง 14.8 ล้านคน เท่ากับลดจำนวนคนที่จะเสียชีวิตจากการใช้ยาสูบลงได้ 7.4 ล้านคน โดยเป็นผลจากการขึ้นภาษี 3.5 ล้านคน การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ 2.5 ล้านคน การพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ 700,000 คน การรักษาให้เลิกบุหรี่ 380,000 คน และการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย 306,000 คน

“ข้อโต้แย้งที่ว่าประสิทธิภาพของภาพคำเตือนมีน้อย กระทรวงสาธารณสุขจึงไม่ควรขยายขนาดภาพคำเตือน ในความเป็นจริงมาตรการควบคุมยาสูบแต่ละมาตรการมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน แต่ละมาตรการจะเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน และไม่สามารถทดแทนกันได้ การขึ้นภาษีเพื่อทำให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นเพื่อให้คนสูบน้อยลงหรือเลิกสูบ การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ การพิมพ์ภาพคำเตือนเพื่อเตือนอันตรายของยาสูบ การห้ามโฆษณาเพื่อห้ามสิ่งกระตุ้นให้คนสูบบุหรี่ ดังนั้นทุกมาตรการจึงต้องนำมาใช้พร้อมกัน และต้องเพิ่มความเข้มข้นของแต่ละมาตรการดังการขยายขนาดภาพคำเตือนของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาพที่สูงสุด” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่สามารถครอบคลุมได้อีกหลายเรื่อง เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์เลียนแบบบุหรี่ และมีการเติมนิโคตินเหลวทำให้ผู้สูบได้รับปริมาณนิโคตินเข้มข้น ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย แต่การนำเข้าพบว่ามีการแยกชิ้นส่วนและขายปลีกจนไม่สามารถทำให้จับกุมได้ นอกจากนี้ ยังมีบารากู่ ที่มีการแยกชิ้นส่วนและใช้วิธีหิ้วเข้าประเทศโดยแสดงว่าเป็นสมุนไพร จึงไม่สามารถจับกุมตัวอุปกรณ์ได้ ทำให้ได้ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมควบคุม นิโคตินเหลว ให้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพื่อทำให้ต้องมีการรายงานเมื่อนำเข้า และป้องกันการลักลอบนำเข้าประเทศ ซึ่งเมื่อมี พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะมีประเด็นที่ครอบคลุมการขายในรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเข้าไปสำรวจใน Play Store พบว่ามีแอปพลิเคชันเลียนแบบสูบบุหรี่จำนวนมาก มีทั้งที่ดาวน์โหลดได้ฟรีและเสียเงิน บางแอปพลิเคชันมียอดการดาวน์โหลดสูงถึงกว่า 1 ล้านครั้ง เมื่อลองโหลดและเปิดใช้แอปพลิเคชันแล้วพบว่า หน้าจอของสมาร์ทโฟนจะมีรูปบุหรี่ที่ถูกจุดแล้ว เมื่อยกโทรศัพท์มือเข้ามาใกล้ปากแล้วเลียนแบบสูบบุหรี่ตรงบริเวณที่เป็นไมโครโฟน ปรากฏว่า บริเวณปลายบุหรี่จะแดงขึ้นเหมือนถูกเผาไหม้เวลาสูบบุหรี่จริง และแท่งบุหรี่ก็จะค่อยๆ หดสั้นเข้ามาเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดมวน



ตัวอย่างภาพการเล่นแอปฯจากในคลิป



กำลังโหลดความคิดเห็น