xs
xsm
sm
md
lg

บ.บุหรี่ เต้นฟ้องล้ม กม.เหตุเสียรายได้ แต่กำไรเท่า “โค้ก-ไมโครซอฟท์-แมคโดนัลด์” รวมกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักกฎหมาย สธ.จับมือนักวิชาการเปิดโต๊ะโต้ บ.บุหรี่ฟ้องเพิกถอนประกาศเพิ่มขนาดภาพคำเตือนเป็น 85% ชี้ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ที่เต้นเป็นเจ้าเข้า เพราะเสียผลประโยชน์ ทั้งที่กำไรสุทธิ 6 บ.บุหรี่เท่ากับกำไรโค้ก ไมโครซอฟท์ และแมคโดนัลด์ รวมกัน แต่ไทยกลับต้องเสียค่าใช้จ่ายการรักษาโรคด้านบุหรี่ถึง 5.2 หมื่นล้านบาท ยกเคสต่างประเทศฟ้องไปก็ไม่ชนะ

วันนี้ (2 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. นายจิรวัฒน์ อยู่สะบาย คณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อต่อสู้คดีการฟ้องร้องโดยธุรกิจยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าว “ฟ้องกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่” ว่า หลังจาก สธ.ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2556 ให้เพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ จาก 55% เป็น 85% ของพื้นที่ซอง โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 2 ต.ค. 2556 ส่งผลให้บริษัท เจแปน โทแบคโก บริษัท ฟิลิป มอร์ริศ สหรัฐอเมริกา และสมาคมการค้ายาสูบไทย ยื่นฟ้อง สธ.ต่อศาลปกครอง 2 ประเด็น คือ 1.ขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราวกรณีให้ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ต.ค.นี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถดำเนินการซื้อเครื่องจักรตามเงื่อนไขเพิ่มพื้นที่คำเตือนได้ทัน และ 2.ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศดังกล่าว โดยอ้างว่า สธ.ทำเกินอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายแม่บทกำหนด ซึ่งเรายันยันว่า การออกประกาศอยู่บนพื้นฐาน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 12 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขได้ ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่าการออกประกาศดังกล่าว ไม่เป็นไปตามรูปแบบและขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 57 วรรค 2 เนื่องจาก สธ.ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย จริงๆ แล้วตามกฎหมายกำหนดว่าการรับฟังความคิดเห็นจะต้องเป็นโครงการของรัฐเท่านั้น ส่วนที่บริษัทบอกว่า จะเป็นภาระในการคืนสินค้า ทาง สธ.ก็แก้ปัญหาโดยการยืดเวลาให้อีก 90 วัน เพื่อให้สามารถระบายสินค้าล็อตเดิมได้ โดยบริษัทบุหรี่จะสามารถขายบุหรี่รูปแบบเก่าได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม และตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2556 จะต้องเป็นรูปแบบใหม่ทั้งหมด

น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน กล่าวว่า ไม่ว่าบริษัทบุหรี่จะอ้างเหตุผลหรือกฎหมายใดมาฟ้อง แต่โดยแท้จริงแล้ว เหตุผลสำคัญคือเพราะบริษัทบุหรี่รู้ดีว่าการพิมพ์คำเตือนขนาดใหญ่จะส่งผลทำให้ยอดขายลดลง และกลายเป็นสินค้าที่น่าขยะแขยงมากขึ้น ทั้งที่ซองบุหรี่เป็นอาวุธชิ้นเดียวในการโฆษณา การออกมาคัดค้านเช่นนี้ก็เพื่อไม่ต้องการให้ไทยเป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศอื่นในการออกกฎหมายเพื่อเพิ่มขนาดภาพคำเตือนให้ใหญ่ขึ้น

น.ส.บังอร กล่าวอีกว่า สำหรับในต่างประเทศพบว่า บริษัทบุหรี่เคยฟ้องรัฐบาลออสเตรเลียและอุรุกวัย ที่กำหนดมาตรการให้พิมพ์คำเตือนขนาดใหญ่บนซองบุหรี่แต่ก็แพ้คดี เพราะศาลตัดสินว่ามาตรการเรื่องนี้ของรัฐไม่ได้ละเมิดกฎหมายเครื่องหมายการค้า ตามที่บริษัทบุหรี่อ้าง ทำให้ไม่สามารถล้มกฎหมายที่รัฐบาลกำหนดให้พิมพ์ขนาดภาพคำเตือนด้านหน้า 75% และด้านหลัง 90% บวกกับคำเตือนเรื่องการทิ้งบุหรี่เสี่ยงต่อไฟไหม้อีก 10% ได้ ทำให้ออสเตรเลียมีขนาดภาพคำเตือนเฉลี่ย 87.5% และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2555 ส่วนอุรุกวัยใช้ภาพคำเตือนขนาด 80% ตั้งแต่ปี 2553

“หากบริษัทบุหรี่จะฟ้อง สธ.ไทยก็คงไม่ต่างจากการฟ้องในประเทศอื่นๆ ซึ่งล้วนฟังไม่ขึ้น โดยเฉพาะที่บอกว่าทำให้บริษัทเสียหาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วบริษัทบุหรี่ 6 บริษัทใหญ่ทั่วโลก มีกำไรสุทธิรวมกันถึง 35,000 ล้านเหรียญ หรือ 175,000 ล้านบาท เท่ากับกำไรของโค้ก ไมโครซอฟท์ และแมคโดนัลด์ รวมกัน ขณะที่ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินไปกับการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ถึงปีละ 52,000 ล้านบาท หรือ 0.5% ของจีดีพี โดยในประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่อีกปีละ 50,700 คน” น.ส.บังอร กล่าว

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า หากบริษัทบุหรี่ฟ้องแล้วชนะสามารถล้มกฎหมายดังกล่าวของไทยได้ ก็จะนำตัวอย่างนี้ไปข่มขู่ประเทศอื่นที่คิดจะเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ แต่หากแพ้ก็คงไม่ถึงขนาดใช้วิธีให้รัฐต่อรัฐฟ้องกันเอง เหมือนอย่างที่ฮอนดูรัส ยูเครน ฟ้ององค์การการค้าโลกกรณีออสเตรเลียออกกฎหมายภาพคำเตือนดังกล่าว เพราะประเทศไทยไม่ได้ห้ามใช้เครื่องหมายทางการค้าอย่างออสเตรเลีย แต่ที่แน่ชัดไม่ว่าบริษัทบุหรี่จะแพ้หรือชนะ แผนการต่อไปก็คือความพยายามที่จะล้ม พ.ร.บ.ควบคุมบริโภคยาสูบฉบับใหม่ของไทยต่อไป สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่า สธ.ออกกฎหมายโดยไม่ให้บริษัทบุหรี่หรือร้านค้าปลีกเข้าร่วมหารือนั้น เนื่องจากภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบมาตรา 5.3 ที่ไทยต้องปฏิบัติตามพันธะกำหนดไว้ว่า ไม่ให้ธุรกิจยาสูบหรือฝ่ายที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องแทรกแซงการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ ก็เหมือนกับการที่บริษัทบุหรี่ประชุมเพื่อทำแผนการตลาดก็ไม่เคยให้ สธ.เข้าไปร่วมหารือด้วยเช่นกัน

ผศ.ลักขณา เติมศิริกุลชัย หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นมาตรการสำคัญที่มีประสิทธิผลในการเตือนผู้สูบและไม่สูบให้ตระหนักถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ เห็นได้ชัดจากผลสำรวจการบริโภคยาสูบทั้งผู้สูบและไม่สูบ อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 20,000 กว่าคน เมื่อปี 2554 พบว่า ในผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 94.6 เห็นภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ โดยร้อยละ 71.4 เห็นภาพบนซองแล้วจะนึกถึงอันตราย ร้อยละ 62.6 เห็นแล้วอยากเลิกสูบบุหรี่ และร้อยละ 80.3 เห็นแล้วเคยพยายามอยากเลิกสูบบุหรี่ ขณะที่ผู้ไม่สูบร้อยละ 98.2 ระบุว่าเห็นภาพแล้วไม่คิดที่จะริเริ่มสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะกำหนดให้มีภาพคำเตือนขนาด 55% ของพื้นที่ซอง แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าประสิทธิภาพในการเตือนลดลง เนื่องจากมีการใช้มานานและไม่มีการเปลี่ยนรูปภาพใหม่ สธ.จึงออกประกาศฉบับใหม่ โดยให้เปลี่ยนรูปภาพใหม่ทั้งหมดและเพิ่มขนาดเป็น 85% ของพื้นที่ซอง

ผศ.ลักขณา กล่าวอีกว่า กรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งเป็นกฎหมายโลกเรื่องนี้ ได้ชี้ชัดว่าประสิทธิภาพของคำเตือนจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของคำเตือน จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติว่าประเทศภาคีของกรอบอนุสัญญานี้ควรกำหนดให้มีคำเตือนขนาดใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประชากรที่มีการศึกษาน้อย เด็กและเยาวชน

ทุกวันนี้บริษัทบุหรี่มีการออกผลิตภัณฑ์โดยใช้ภาพบนซองในเชิงรักษ์สุขภาพ มีทั้งรสส้ม รสช็อกโกแลต เป็นต้น เป็นการใช้ภาพรักษ์สุขภาพเพื่อขายความตาย ขณะที่สาธารณสุขเราใช้ภาพความตายเพื่อขายสุขภาพให้แก่สังคม ซึ่งเราพยายามทำมาตลอดแต่บริษัทบุหรี่ก็พยายามจะขวางเรื่องนี้” ผศ.ลักขณา กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น