xs
xsm
sm
md
lg

อย.ตรวจตัวอย่างข้าวถุงไม่เสร็จ แต่รีบแจงผล บอกได้มาตรฐาน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย.ก้นร้อน เร่งแจงผลตรวจข้าวบรรจุถุงแม้ยังตรวจไม่ครบทุกตัวอย่าง หลังเจอข่าว อย.สหรัฐฯสั่งกักข้าวไทยจากโครงการรับจำนำข้าว ตบหน้ารัฐบาลปู เหตุใช้สารรมควันมาก ยันได้คุณภาพไม่พบสารฟอสฟีน ส่วนสารเมทิลโบรไมด์พบตกค้าง 26 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ชี้เป็นข้าวจากบริษัทเดียวกับผู้ส่งออก เชื่อปลอดภัยเช่นกัน เตรียมเร่งรัดผู้ประกอบการข้าวบรรจุถุงทั้งหมดขอเลข อย.เร็วขึ้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (28 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการตรวจคุณภาพข้าวบรรจุถุง ภายหลังมีกระแสข่าว อย.สหรัฐอเมริกาสั่งกักข้าวไทย เนื่องจากสต๊อกข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไทยมีการใช้สารเคมีรมควันเป็นปริมาณมาก สุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ บางแห่งมีมอด และเชื้อรา ว่า อย.ได้สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวบรรจุถุงจากร้านค้าประเภทโมเดิร์นเทรดจำนวน 57 ตัวอย่าง จากนั้นได้นำส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำการตรวจสารเคมีที่ใช้ในยการรมข้าวจำนวน 2 ชนิด คือ เมทิลโบรไมล์ (Methylbromide) และฟอสฟีน (Phosphine) รวมถึงสารกำจัดแลงศัตรูพืช โลหะหนัก และเชื้อรา ทั้งนี้ กรมวิทย์ได้มีการเก็บตัวอย่างมาทำการตรวจสอบเองด้วยอีก 33 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่า ทุกตัวอย่างไม่มีการปนเปื้อนของสารฟอสฟีน ส่วนการตรวจสารเมทิลโบร์ไมด์นั้น ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของกรมวิทย์ฯยังไม่มีความพร้อม จึงเสนอให้ อย.ส่งตรวจกับแล็บของเอกชน

นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า จากการตรวจสารเมทิลโบรไมด์กับแล็บเอกชน พบว่า ตัวอย่างข้าวบรรจุถุงจำนวน 28 ถุงไม่พบสารดังกล่าวตกค้าง ส่วนอีก 26 ถุง พบว่ามีสารตกค้างอยู่ที่ 0.9-21 ppm ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐานที่โคเด็กซ์กำหนดอยู่ที่ 50 ppm แต่ไม่ได้หมายความว่าสารที่ตกค้างจะมาจากการรมสารเคมีเสมอไป เพราะอาจจะมาจากพื้นที่ของการปลูกข้าว ซึ่งในดินมีการผสมของสารดังกล่าวอยู่แล้ว ส่วนความชื้น สารกำจัดศัตรูพืช โลหะหนัก และเชื้อราอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ก็ไม่พบความผิดปกติเช่นกัน แม้จะยังตรวจตัวอย่างข้าวบรรจุถุงไม่ครบทุกตัวอย่าง แต่คาดว่าตัวอย่างที่เหลือก็คงไม่พบสารตกค้างเช่นกัน ดังนั้น จึงขอยืนยันว่าข้าวบรรจุถุงของไทยมีคุณภาพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี อย.สหรัฐฯสั่งกักข้าวไทยจะมีการชี้แจงหรือไม่ นพ.บุญชัย กล่าวว่า เรื่องการกักข้าวเป็นเรื่องปกติของด่าน ไม่ว่าจะเป็นของต่างประเทศ หรือของไทยในการนำเข้าสินค้า ก็ต้องมีการกักเพื่อตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งข้าวส่งออกของไทยที่ถูก อย.สหรัฐฯ กักจึงไม่น่าจะมีปัญหา และก่อนที่จะมีการส่งออกข้าว ผู้ประกอบการก็ต้องดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ บริษัทที่ส่งออกข้าวนั้นก็เป็นบริษัทเดียวกันที่ อย.และกรมวิทย์ฯไปเก็บตัวอย่างข้าวบรรจุถุงมาทำการตรวจสอบ ส่วนข้อกังวลเรื่องการใช้สารเมทิลโบรไมด์ ซึ่งสหภาพยุโรปได้ประกาศห้ามใช้แล้วเมื่อปี 2554 คาดว่าอีกไม่นานแต่ละประเทศก็จะมีแนวโน้มห้ามใช้อย่างเด็ดขาด รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะการใช้สารเมทิลโบรไมด์กับข้าว เนื่องจากมีสารฟอสฟีนที่สามารถใช้แทนกันได้และปลอดภัยกว่า

“ภายในสัปดาห์หน้า อย.จะมีการหารือกับกระทรวงเกษตรฯและกรมควบคุมมลพิษ ในเรื่องของการยกเลิกการใช้สารเมทิลโบรไมด์ เพราะการระเหยของสารเมทิลโบรไมด์ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ชั้นโอโซนของบรรยากาศถูกทำลาย โดย อย.มีประกาศให้สารดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ซึ่งห้ามใช้อยู่แล้วในบ้านเรือน ก็อาจเสนอให้กระทรวงเกษตรฯออกประกาศยกระดับสารตัวนี้เป็นระดับ 4 ด้วยเช่นกัน แต่ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่ามีอุตสาหกรรมใดที่ต้องใช้สารตัวนี้อีกบ้าง และยังไม่สามารถหาสารอื่นมาทดแทนได้” เลขาธิการ อย. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อให้ข้าวบรรจุถุงมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น นพ.บุญชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเนื่องจากข้าวเป็นอาหารพื้นฐานที่คนทั่วไปรับประทาน จึงไม่ได้มีการควบคุมในเรื่องของมาตรฐานการบรรจุถุง แต่เมื่อ อย.มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้อาหารแปรรูปที่มีบรรจุภาชนะทุกประเภทต้องผ่านการตรวจรับรองจาก อย. ทั้งมาตรฐานการผลิต เครื่องมือเครื่องในการผลิต และการเก็บรักษา เป็นต้น กฎหมายจึงมีผลต่อผู้ประกอบการข้าวบรรจุถุงรายใหม่ที่จะต้องผ่านการตรวจรับรองเพื่อที่จะได้รับเลขจาก อย.ว่ามีคุณภาพ ส่วนผู้ประกอบการรายเก่าตามกฎหมายได้กำหนดให้เตรียมพัฒนาปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน GMP ตามที่ อย.กำหนดภายในปี 2558 ก็จะพยายามเร่งรัดให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าสู่มาตรฐานเร็วขึ้น โดยจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น ด้วยการลงไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ ส่วนการตรวจข้าวถุงก็จะเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะช่วงนี้อาจจะต้องตรวจบ่อยขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นอกจากการตรวจสารฟอสฟีนแล้ว กรมวิทย์ยังมีการตรวจเศษแมลงในข้าวบรรจุถุงที่ อย.ส่งตรวจด้วย พบว่า มีเศษแมลงน้อยมาก หมายความว่ากระบวนการบรรจุข้าวลงถุงมีระบบปิดที่ป้องกันปัจจัยภายนอกดีพอสมควร และดีกว่าธัญพืชนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะมีการตรวจเจอเศษแมลงเยอะกว่าข้าวไทย สำหรับสารเมทิลโบรไมด์แม้ขณะนี้ แล็บของกรมวิทย์ฯยังไม่มีความพร้อมในการตรวจ แต่คาดว่าจะเตรียมแล็บเพื่อให้สามารถตรวจได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนอาการของผู้ที่ได้รับสารเมทิลโปรไมด์ในผู้บริโภคไม่น่ากังวลเท่าไร เนื่องจากไม่เคยพบกรณีดังกล่าวมาก่อน ที่สำคัญสารนี้มีการระเหยออกจากเมล็ดพืชอย่างรวดเร็ว ที่น่าห่วงคือผู้ที่ทำการรมควันมากกว่า ต้องได้รับการอบรมจากกระทรวงเกษตรฯเพื่อป้องกันสารนี้

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่สูดดมสารดังกล่าวในระยะสั้นจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน มองไม่ชัด พูดพันกัน ถ้าได้รับในระดับความเข้มข้นสูงอาจชักไม่ได้สติและเสียชีวิตได้ ระคายเคืองต่อปอด ไอเป็นเลือดเจ็บหน้าอก หายใจขัด ส่วนอาการทางผิวหนังอาจเกิดผื่นแดงจนถึงพุพองและไหม้ อาการได้รับพิษอาจแสดงออกหลังจากเวลาผ่านไป 2-3 ชั่วโมง ถึง 2-3 วัน ส่วนในระยะยาวอาจทำลายระบบประสาทส่วนกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น