xs
xsm
sm
md
lg

พบนม ร.ร.ชนิดพาสเจอร์ไรส์ คุณภาพ-โภชนาการต่ำกว่ามาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ตรวจนมโรงเรียนพบชนิดพาสเจอร์ไรส์ ไม่ได้คุณภาพมากกว่ายูเอชที เหตุมีเชื้อแบคทีเรียเกินค่ามาตรฐาน ส่วนคุณค่าโภชนาการต่ำกว่ามาตรฐาน 3.8% โล่ง! ไม่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสารต้านจุลชีพตกค้าง

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนเป็นประจำของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทย์ พบว่า ตัวอย่างนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที ที่ผลิตจากโรงนมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม เป็นตัวอย่างที่ส่งตรวจโดยหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้ประกอบการ ระหว่างปี พ.ศ.2553-2555 จำนวน 450 ตัวอย่าง (121, 180 และ 149 ตัวอย่าง ตามลำดับ) โดยตรวจวิเคราะห์ทั้งทางด้านจุลินทรีย์ คุณค่าทางโภชนาการ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และสารต้านจุลชีพตกค้าง

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบคุณภาพพบตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 9.3 เมื่อจำแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ ร้อยละ 8.6 สาเหตุจากพบปริมาณแบคทีเรียเกินมาตรฐานมากที่สุด รองลงมาได้แก่ เชื้อบาซีรัส ซีเรียส เชื้ออีโคไล และเชื้อโคลิฟอร์ม ตามลำดับ โดยพบนมพาสเจอร์ไรส์ไม่ได้มาตรฐานมากกว่านมยูเอชที สำหรับด้านคุณค่าทางโภชนาการพบว่าไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 3.8 สาเหตุเนื่องจากปริมาณเนื้อนมไม่รวมไขมัน ไขมันและโปรตีน ต่ำกว่ามาตรฐานคิดเป็นร้อยละ 2.6, 0.9 และ0.6 ตามลำดับ ส่วนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และสารต้านจุลชีพตกค้างตรวจไม่พบในทุกตัวอย่าง

“นอกจากนี้ เมื่อจำแนกคุณภาพของตัวอย่างนมจากแหล่งเก็บที่ต่างกัน ได้แก่ สถานที่ผลิตและโรงเรียน พบว่า ตัวอย่างนมที่เก็บจากโรงเรียนไม่เข้ามาตรฐานด้านจุลินทรีย์มากกว่าตัวอย่างนมที่เก็บจากสถานที่ผลิต อย่างไรก็ตาม การตรวจพบตัวอย่างนมที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น กรมวิทย์ได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิต การเก็บรักษา รวมถึงการควบคุมอุณหภูมิในการขนส่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคนมโรงเรียนว่ามีความปลอดภัย” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นางลัดดาวัลย์ โรจนพรรณทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กล่าวว่า นมพาสเจอร์ไรส์เป็นนมที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคและลดปริมาณจุลินทรีย์ ที่ไม่ใช่เชื้อก่อโรคให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ตลอดจนยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ โดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส ระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิ 72 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 15 วินาที และสามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส ได้นาน 7-10 วัน แต่ถ้านมถูกทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องหรืออยู่นอกตู้เย็นนานๆ เชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในนมจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้นมเสียเร็วขึ้น และการควบคุมอุณหภูมิในการขนส่ง นมพาสเจอร์ไรส์ไปยังโรงเรียนมีความสำคัญมากและเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้นมเสียก่อนวันหมดอายุ แม้ว่าโรงเรียนจะเก็บนมไว้ในตู้เย็นที่ควบคุมอุณหภูมิแล้วก็ตาม

นางลัดดาวัลย์ กล่าวอีกว่า ก่อนดื่มนมพาสเจอร์ไรส์ทุกครั้ง ควรสังเกตดูว่าน้ำนมมีลักษณะผิดปกติหรือไม่ ถ้านมมีการจับตัวเป็นเม็ดขาวเล็กๆ แสดงว่านมนั้นอาจจะเสีย แต่หากไม่มีตะกอนเม็ดขาว ควรตรวจสอบด้วยการชิมเล็กน้อยถ้ามีรสเปรี้ยว หรือมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรดื่ม ส่วนนมยูเอชทีเป็นนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 133 องศาเซลเซียส เวลาไม่ต่ำกว่า 1 วินาที แล้วบรรจุด้วยกระบวนการและสภาวะที่ปลอดเชื้อ ความร้อนที่ใช้สามารถทำลายเชื้อและสปอร์ของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคและจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในนม ทำให้นมยูเอชทีสามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องได้นาน 6-9 เดือน แต่สปอร์ของพวกแบคทีเรียที่ทนความร้อนสูง อาจไม่ถูกทำลาย ดังนั้นจึงไม่ควรเก็บนมที่อุณหภูมิสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส เนื่องจากสปอร์ของแบคทีเรียที่ทนต่อความร้อนสูงที่มีอยู่ในนมอาจเจริญเติบโตได้ในการขนส่งนมและการเก็บรักษา ควรทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรซ้อนลังกระดาษที่บรรจุกล่องนมยูเอชทีหลายๆ ชั้น เพราะกล่องนมอาจเสียหาย เกิดรอยรั่วซึม ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปในกล่องนมทำให้นมเสียได้ เมื่อเปิดกล่องแล้วดื่มไม่หมด ควรนำนมที่เหลือ ไปเก็บไว้ในตู้เย็นและดื่มให้หมดภายใน 3-5 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น