xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ยื่น 2 ทางเลือกให้ 5 นิสิตคณะนิติฯที่ถูกพ้นสภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ ใจกว้าง!! ยื่นข้อเสนอ 2 ทางเลือกให้ 5 นิสิต คณะนิติฯ ที่ถูกให้พ้นสภาพ ทั้งกลับเข้าเรียนต่อทันทีหากผลการเรียน 3 ชั้นปีผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ 2.00 หรือเข้าเรียนปี 1 ใหม่กรณีพิเศษ พร้อมจ่ายให้จนจบ รองอธิการ เผยตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง อาจารย์ประมาท พร้อมวิจัยระบบการส่งเกรดทั้งหมด มั่นใจแนวทางนี้นิสิตพอใจ เพราะเป็นการให้โอกาสทางการศึกษา ด้าน คณบดีนิติฯ เสียใจและขอโทษที่เกิดปัญหา เผยให้อาจารย์ยุติการสอนเป็นการชั่วคราว ลั่นที่ผ่านมาหาหนทางที่ดีเพื่อดูแลนิสิตเชื่อไม่มีการฟ้องร้อง

วันนี้ (20 มิ.ย.) เมื่อเวลา 17.30 น. ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าวกรณีที่นิสิตคณะนิติศาสตร์จำนวน 5 คน ต้องพ้นสภาพนิสิตย้อนหลังไปในปี 2554 เนื่องจากขณะนั้นนิสิตกลุ่มดังกล่าวกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่หนึ่งในวิชากฎหมายกับสังคม ซึ่งเป็นวิชาที่นิสิตทุกคนต้องเรียนในปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 สาเหตุจากอาจารย์ผู้สอนส่งผลคะแนนการศึกษาในวิชาดังกล่าวล่าช้ามากกว่า 2 ปี หรือกว่า 5 ภาคการศึกษา โดยผลคะแนนของวิชาดังกล่าวเพิ่งออกมาเมื่อไม่นานมานี้

โดย ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นทางมหาวิทยาลัยไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะนิติศาสตร์ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารคณะนิติฯ และมีมติในเบื้องต้นเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหาย โดยอิงตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองที่เคยมีการพิจารณากรณีในลักษณะเดียวกัน ขณะเดียวกันทางคณะนิติฯ ได้นำเรื่องมาปรึกษากับส่วนกลางของมหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้นิสิตกลุ่มดังกล่าวกลับมาศึกษาต่อภายใต้ 2 แนวทาง ดังนี้ 1.เมื่อนิสิตที่เรียนจนจบชั้นปีที่ 3 แทนที่จะใช้ผลการเรียนเฉพาะชั้นปีที่ 1 และ 2 มาคิดคำนวณ ก็จะให้นำผลการเรียนทั้งหมดที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมาคำนวณ ถ้านิสิตได้พัฒนาตนเองมาจนถึงเกณฑ์ที่สามารถเรียนต่อได้ หรือมีเกรดเฉลี่ยรวม 2.00 มหาวิทยาลัยก็จะให้นิสิตสามารถเลือกที่จะเรียนต่อในภาคการศึกษา 2556 ได้ทันที แต่ถ้าผลการเรียนของนิสิตเฉลี่ยรวมทั้งหมดที่ผ่านมาต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะเรียนต่อไปได้ มหาวิทยาลัยก็จะมีทางเลือกที่ 2 ให้แก่นิสิต คือ จะรับนิสิตที่พ้นสถานภาพย้อนหลังในครั้งนี้ มาเรียนชั้นปีที่ 1 ใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2556หรือปีการศึกษานี้เป็นต้นไป และให้นิสิตมีเลขประจำตัวใหม่ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตได้แก้ตัวและตั้งใจเรียน เพื่อให้ผลการเรียนดีขึ้น โดยคณะนิติฯ จะรับผิดชอบค่าเล่าเรียนของนิสิตนักศึกษา อย่างไรก็ตาม ทางออกดังกล่าวจะเป็นกรณีพิเศษเฉพาะนิสิตกลุ่มนี้เท่านั้น

ทางมหาวิทยาลัยและคณะนิติฯ เห็นว่าทั้ง 2 แนวทางน่าจะเป็นทางออกที่ดี และได้แจ้งให้นิสิตที่เกี่ยวข้องที่ได้ทราบแล้ว ขณะเดียวกันในสัปดาห์หน้า จุฬาฯ จะเชิญนิสิตพร้อมผู้ปกครองมาพบและพูดคุยอีกครั้งถึงทางเลือกที่มีอยู่ว่าทางเลือกใดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะเข้าใจและเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสะเทือนใจผู้ปกครองและเท่าที่ดูจากผลการเรียนคร่าวๆของนิสิตทั้ง 5 ราย มี 1 ราย ที่สามารถเลือกเรียนต่อในภาคการศึกษานี้ได้ทันที ส่วนอีก 4 รายต้องย้อนกลับไปเรียนชั้นปีที่ 1 ใหม่เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งในเรื่องของการส่งเกรดช้าของอาจารย์นั้นเกิดจากปัจจัยหลายด้าน แต่โดยปกติทางมหาวิทยาลัยจะมีการกำหนดกรอบเวลาว่าจะต้องแจ้งผลการเรียนให้นิสิตรับทราบภายใน 90 วันหลังจากสอบเสร็จ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นเป็นการส่งเกรดล่าช้าแน่นอน แต่จะต้องไปดูว่าเกิดจากปัจจัยใด” รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยจะถือโอกาสนี้ทำการวิจัยสถาบัน โดยจะศึกษารอบด้านว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้การส่งเกรดล่าช้า ซึ่งไม่ใช่กรณีของคณะนิติฯ เท่านั้น แต่เป็นการวิจัยทั้งระบบ เพื่อจะได้หามาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ศ.ดร.ศักดา กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน ตนขอแสดงความเสียใจและขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางคณะนิติฯ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอาจารย์ท่านดังกล่าวโดยมีอาจารย์จากคณะอื่นทำหน้าที่ในการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้ยุติการสอนไว้ชั่วคราว ส่วนจะต้องให้ออกจากการเป็นอาจารย์หรือไม่นั้น ต้องรอผลการสอบสวนคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก่อน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเมื่อทางคณะทราบปัญหาก็ได้สอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้อาจารย์ท่านดังกล่าวออกเกรดช้า เบื้องต้น คาดว่าน่าจะเกิดจากปัญหาสุขภาพที่ไม่ค่อยอำนวย เพราะอาจารย์ท่านดังกล่าวปัจจุบันต้องนั่งรถเข็นมาสอน แต่ก็ยังไม่ได้สรุปว่าข้อผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากปัญหาสุขภาพ โดยต้องดูผลการสอบสวนของคณะกรรมการต่อไป

กรณีที่มีกระแสข่าวว่าความผิดพลาดของอาจารย์รายดังกล่าว เนื่องจากทางคณะส่งอาจารย์ไปดูงานที่ต่างประเทศนั้น อาจารย์ท่านดังกล่าว ได้ไปนำเสนอผลงานทางวิชาการที่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาจริง แต่ทางคณะมีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่า การเดินทางไปเสนอผลงานต้องไม่กระทบกับงานประจำ ซึ่งคิดว่าปัญหาดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปเสนอผลงาน เพราะถือเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจารย์จะเดินทางไปเสนอผลงานทางวิชาการที่ต่างประเทศ เพราะเป็นความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการและประโยชน์ต่อนิสิต” ศ.ดร.ศักดา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนิสิตกลุ่มดังกล่าวไม่เลือกแนวทางแก้ปัญหาที่มหาวิทยาลัยเสนอ เพราะอาจจะเห็นว่าทำให้เสียเวลาและโอกาส และอาจจะฟ้องร้องมหาวิทยาลัยจะมีมาตรการอื่นรองรับหรือไม่ ศ.ดร.ศักดา กล่าวว่า ตั้งแต่มีปัญหาเกิดขึ้นทางคณะพยายามรับผิดชอบและแสดงความจริงใจต่อนิสิตที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการพูดคุยหาแนวทางแก้ปัญหาก็ได้รับความร่วมมือที่ดีจากส่วนกลาง โดยยกเลิกกฎเกณฑ์บางประการ ซึ่งสำคัญมากๆ เพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีมาเสนอ ขณะเดียวกันตนก็เชื่อในความเป็นลูกศิษย์ ครู ดังนั้นจึงคิดว่าโอกาสที่มีการฟ้องร้องก็คงจะมีน้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น