บ.เอกชนหัวหมอ อ้างชื่อ วท.การอาชีพพุทธมณฑล จัดการศึกษาแบบเทียบโอนพร้อมเปิดรับสมัคร นศ.โดยใช้ชื่อ “ศูนย์นนทบุรี” ทั้งที่วิทยาลัยไม่มีเอี่ยว ขณะที่นโยบายให้ วท.เปิดเทียบโอน มีวิทยาลัยเปิดสอนนอกที่ตั้ง 19 แห่ง 66 ศูนย์ สอนระดับ ปวช.5,099 คน และ ปวส. 8,064 คน
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามผลการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการเปิดโอกาสการเรียนการสอนโดยให้มีการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ให้สถานศึกษาที่เปิดสอนเรื่องดังกล่าวอยู่นอกสถานศึกษา หรือในศูนย์ต่างๆ นำนักศึกษาเข้ามาเรียนในสถานศึกษาตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น พบว่า มีสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ที่เปิดสอนนอกที่ตั้ง 19 แห่ง จำนวน 66 ศูนย์ เป็นการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 5,099 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 8,064 คน โดยขณะนี้ทุกวิทยาลัยได้ส่งแผนการนำเด็กกลับมาเรียนในสถานศึกษามายัง สอศ.แล้ว สามารถสรุปเป็น 3 แนวทางใหญ่ คือ 1.ศูนย์ฯ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลสถานศึกษาแม่ นำเด็กกลับมาเรียนในที่ตั้ง 2.ศูนย์ฯ ที่ตั้งอยู่ไกลจากสถานศึกษาแม่ ใช้วิธีจัดรถรับส่ง และ 3.ทางวิทยาลัยให้เด็กเลือกว่าจะกลับเข้าเรียนในวิทยาลัย หรือย้ายสถานที่เรียน ซึ่งในกรณีที่เด็กเลือกย้ายสถานที่ไปเรียนกับสถานศึกษาเอกชน ก็ให้โอนผลการเรียนที่เรียนกับวิทยาลัยไปเทียบโอนประสบการณ์ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สอศ.ได้ชี้แจงแนวปฏิบัติในการจัดเทียบโอนความรู้และประสบการณ์แก่สถานศึกษาแล้วว่า วิธีการเทียบโอนจะต้องมีคณะกรรมการ และประเมินอย่างเป็นระบบ มีวิธีจัดการเรียนการสอนโดยอาจารย์ของวิทยาลัย ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการ มีการใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสอน และมีการประเมินสมรรถนะผู้จบการศึกษา ทั้งนี้การให้นำเด็กทั้งหมดกลับมาเรียนในสถานศึกษา เพื่อให้มีการควบคุมมาตรฐานในการเรียนไปในแนวทางเดียวกัน ไม่สะเปะสะปะเหมือนที่ผ่านมา และภายในสัปดาห์นี้จะมีการส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปติดตามว่าสถานศึกษาได้ปฏิบัติตามแผนที่ส่งมาให้ สอศ.หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาสถานศึกษาบางแห่งได้ร่วมกับบริษัทเอกชนในการจัดการศึกษาแบบเทียบโอนฯ แต่เมื่อ สอศ.มีนโยบายให้นำเด็กกลับเข้ามาเรียนในสถานศึกษา ปรากฏว่า วิทยาลัยส่วนใหญ่สามารถนำเด็กกลับเข้ามาเรียนในวิทยาลัยได้ แต่วิทยาลัยบางแห่งยังติดปัญหาว่าถึงแม้วิทยาลัยจะประกาศยกเลิก และปิดการจัดการอาชีวศึกษากลุ่มเทียบโอนฯ แล้ว แต่บริษัทเอกชนที่เคยร่วมมือกันก็ยังดำเนินการรับสมัครเด็กอยู่ อาทิ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล ที่ต้องมีการขึ้นประกาศหน้าเว็บไซต์ของวิทยาลัยว่า มีผู้แอบอ้างชื่อวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล เปิดรับนักศึกษาเทียบโอนโดยใช้ชื่อ “ศูนย์นนทบุรี” รับสมัครนักศึกษา ทั้งที่วิทยาลัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น