แพทย์เตือนแฟชั่นสัก เจาะ เพนต์ ต่อขนตา ต่อผม ระวังแพ้สารเสี่ยงโรคผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน โดยเฉพาะสักขอบตาหากสารเข้าตาดำอาจตาบอดได้ ส่วนการเจาะเสี่ยงติดโรคติดเชื้อเพียบ ย้ำคนเป็นโรคฮีโมฟีเลีย ลิ้นหัวใจพิการ ผิวหนังแพ้ผุพอง แพ้เครื่องประดับ เป็นคีลอยด์ง่าย ห้ามเจาะหรือสักเด็ดขาด
ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันแฟชั่นเกี่ยวกับการเจาะ สัก เพนต์ หรือการต่อส่วนต่างๆ เช่น ต่อขนตา ต่อเล็บ ต่อเส้นผม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลต่างกันไปในการทำ เช่น สักเพื่อเป็นสัญลักษณ์ สักตามความเชื่อ สักตามแฟชั่น สักทางการแพทย์ เพื่อปิดจุดบกพร่อง สักเพื่อความสวยงาม สักคิ้ว ขอบตา ขอบปาก ซึ่งการสักมีทั้งที่สักด้วยมือและใช้เครื่องมีมอเตอร์ ซึ่งจะทำให้สีเสมอกันมากกว่า ทั้งนี้ การสักบางประเภทก็อาจมีอันตรายอย่างที่คาดไม่ถึง เช่น การสักขอบตา อาจทำให้เยื่อบุตาขาวอักเสบ หรือเป็นอันตราย หากสารหรือสีเข้าไปโดนตาดำอาจทำให้ตาบอดได้
ผศ.พญ.สุวิรากร กล่าวอีกว่า ส่วนการเจาะ เช่น การเจาะหู เจาะสะดือ เจาะลิ้น เจาะหน้า เจาะอวัยวะเพศ เจาะหัวนม อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เป็นฝี หนอง โรคบาดทะยัก วัณโรค ผิวหนัง ตับอักเสบ ซิฟิลิส เอดส์ หรือเกิดอาการแพ้ เช่น แพ้โลหะ ที่ใช้เจาะใส่ เช่น แพ้นิกเกิล แพ้สีที่ใช้สัก บางคนอาจเกิดแผลเป็น หรือเกิดอาการกำเริบของโรคผิวหนังที่มีอยู่ก่อน เช่น สะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้หากต้องการลบรอยสักจะเจ็บมากกว่าและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า
ผศ.พญ.สุวิรากร กล่าวด้วยว่า สำหรับการเพนต์ให้ระวังการเกิดอาการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในสี henna paint มีสาร paraphenylenediamine (PPD) เป็นสารที่ใช้ในการย้อมผมดำ ซึ่งทำให้เกิดการแพ้ได้ ส่วนการต่อขนตาก็เช่นกันให้ระวังการระคายเคืองจากกาว การแพ้กาว และการติดเชื้อ ทำให้ขนตาจริงร่วง การต่อผม สำหรับผู้ที่แพ้กาว ก็จะทำให้เกิดหนังศีรษะอักเสบได้ ส่วนการต่อเล็บ หรือการเพนต์เล็บ จะทำให้เล็บไม่แข็งแรงผิวสีของเล็บเปลี่ยนไป ผิวเล็บไม่เรียบ อาจมีอาการแพ้ในบางรายและเกิดอาการติดเชื้อได้
“การสักหรือเจาะห้ามผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างทำโดยเด็ดขาด นั่นก็คือ โรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคโลหิตออกไม่หยุด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคผิวหนังแพ้และพุพอง สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้เครื่องประดับคือ แพ้โลหะนิกเกิล หรือผู้ที่เกิดแผลเป็นนูนโต ที่เรียกว่าคีลอยด์ง่าย เหล่านี้ควรงดเว้นการสักและการเจาะ” ผศ.พญ.สุวิรากร กล่าว