xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าปม “จำนำข้าว” พ่นพิษหรือคืนกำไรให้ชาวนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซัดกันนัวทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านกับมาตรการ “จำนำข้าว” หนึ่งในโครงการที่ไม่ว่าพรรคใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลล้วนแต่ต้องมี เพียงแต่อาจจะมีชื่อเรียกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการแทรกแซงราคา พยุงราคา หรือประกันราคาข้าว ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ขณะนี้คือ โครงการจำนำข้าว ที่ว่าช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น กำลังเจ๊งอย่างมหาศาลถึง 2 แสนล้านบาท แถมเกษตรกรบางส่วนส่อถูกโกง เนื่องจากยังไม่ได้รับใบประทวน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ส่วนจะพ่นพิษหรือคืนกำไรให้เกษตรกรอย่างที่ประกาศนโยบายจริงหรือไม่ ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับโครงการนี้กันก่อน

ในงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2556 การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศและชุมชน ได้มีการเสวนา “ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบายรับจำนำข้าว” โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของโครงการจำนำราคาข้าว ว่า ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลใดกล้าทำเรื่องประกันราคาข้าว เพราะเป็นเรื่องใหญ่ จึงมีการใช้โครงการแทรกแซงราคาหรือพยุงราคา กับโครงการรับจำนำสลับหรือผสมกันไป โดยเป็นการรับซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาด แต่ก็เป็นโครงการที่ฝนตกไม่ทั่วฟ้า จำกัดโควตารับซื้อ โรงสีในโครงการมีอำนาจต่อรองสูง

ยกตัวอย่าง รัฐบาลตั้งราคาข้าว 10,000 บาทต่อตัน ขณะที่ตลาดซื้อกันที่ 7,000 บาทต่อตัน แต่มักจะถูกโรงสีตีเกรดข้าวต่ำกว่าความเป็นจริง และหักความชื้นและสิ่งเจือปนสูงกว่าความเป็นจริง จากที่หักแล้วควรได้ 9,500 บาท กลับตีราคาให้แค่ 8,000 บาท เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ต้องยอมขาย

จากการวิจัยของทีดีอาร์ไอระบุว่า ผลประโยชน์ของโครงการพวกนี้ถึงเกษตรกรเพียง 17% เท่านั้น ส่วนโครงการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นครั้งแรกที่รับจำนำแบบไม่จำกัดจำนวน แม้ตัวเลขขาดทุนยังไม่รู้แน่ชัด มีปัญหาเรื่องการได้รับเงินช้าบ้าง แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าที่ผ่านมา เพราะเงินมีโอกาสไปถึงมือเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จะเห็นได้ว่าเกษตรกรไม่ค่อยบ่นเรื่องขายข้าว อย่างไรก็ตาม เมื่อจบโครงการแล้วประโยชน์จะถึงมือเกษตรกรหรือไม่อยู่ที่ผลงานการระบายข้าว

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องการระบายข้าวนั้นถือว่ารัฐบาลยังสอบตกอยู่ เนื่องจากรับซื้อตามราคาที่รัฐบาลประกาศแต่ขายตามราคาโลก ที่สำคัญคือขายแย่กว่าตลาดโลก จากที่ทีดีอาร์ไอประเมินไว้ว่าคาดทุนกว่าแสนล้านบาท เฉลี่ยแล้วอาจขาดทุนที่ประมาณ 130,000 ล้าน การที่รัฐบาลประกาศว่าจะเป็นผู้ขายข้าวเอง เพื่อทำราคาข้าวให้สูงขึ้นกว่าตลาดโลกก็คงไม่เกิดขึ้นจริง เพราะกระทรวงพาณิชย์เลิกขายข้าวมา 20 กว่าปี ก็ต้องไปพึ่งภาคเอกชนช่วยขาย แต่ภาคเอกชนก็ไม่ได้เก่งขายข้าวทุกตลาด

ส่วนในแง่มุมของเกษตรกร นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย สะท้อนว่า โครงการรับจำนำข้าวมีผลดีต่อเกษตรกร แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข ส่วนดีคือเกษตรได้ราคาขายข้าวแล้วไม่ขาดทุน แม้จะทำเป็นเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้นจนถูกตัดราคาลดหลั่นลงไปในเรื่องความชื้นและสิ่งเจือปน ทำให้ขายได้ราคาไม่ถึง 15,000 บาท แต่ก็ไม่ขาดทุน ซึ่งจุดอ่อนที่ว่าคือถูกโรงสีบางแห่งโกงความชื้น รวมไปถึงมีการกำหนดพื้นที่เขตการขาย ทำให้ไปขายที่อื่นไม่ได้ เหมือนถูกปิดประตูเท่าไรก็ต้องขาย ส่วนการขึ้นทะเบียนรับใบประทวน ที่ผ่านมา 2-3 เดือน เกษตรกรหลายรายก็ยังไม่ได้รับเงิน ตรงนี้คือสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยแก้ไข และเกษตรกรก็ไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ เพื่อเสนอความคิดเห็นเลย

ด้านนายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มองว่า รัฐบาลไม่ควรมีนโยบายเกี่ยวกับตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว ควรมีนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรด้วย ที่สำคัญไม่ควรใช้นโยบายเดียวทำทั่วประเทศ อย่างรับจำนำข้าวเหมาะกับภาคกลาง ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานควรใช้นโยบายจำนำยุ้งฉาง เพราะเขาทำนาเพียงครั้งเดียวเป็นข้าวแห้งคุณภาพดี และควรมีตราชั่ง เครื่องวัดความชื้นกลาง เพื่อวัดเรตและรีเช็กไม่ให้ถูกโรงสีโกงโดยโรงสีควรที่จะต้องทำระบบแฟร์เทรดกับเกษตรกรด้วย

อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอต่อโครงการจำนำข้าวทั้งหมด มีอยู่ข้อเสนอหนึ่งที่ดูเหมือนทั้งนักวิชาการและเกษตรกรจะเห็นพ้องต้องกันก็คือ ไม่ควรมีนโยบายจำนำข้าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ควรมีการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วย อย่างนายประสิทธิ์ ระบุว่า รัฐบาลควรเปิดจำนำข้าวในภาคกลาง ส่วนภาคอีสานควรใช้นโยบายประกันรายได้ เพราะส่วนใหญ่มักจะเก็บไว้กิน ไม่มีโอกาสได้ขาย

สอดคล้องกับ ดร.วิโรจน์ ที่บอกว่า รัฐบาลต้องไม่ใช้นโยบายจำนำข้าว เพื่อยกระดับราคาข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้มีการประกันราคาด้วย โดยมีการกำหนดราคาเป้าหมายหลังเพาะปลูกว่าขายแล้วควรได้ราคาเท่าไร หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้วราคาต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ก็ให้มีการชดเชย

เห็นได้ว่านโยบายจำนำข้าวไม่ใช่ไม่ดี สามารถคืนกำไรให้เกษตรกรได้จริง แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่อีกสารพัด อยู่ที่รัฐบาลจะยอมรับและพร้อมแก้ปัญหาหรือไม่ ที่สำคัญแม้โครงการจะช่วยเหลือเกษตรกร แต่ประชาชนทั่วไปจะยอมรับการขาดทุนได้แค่ไหน ในเมื่อรัฐบาลยังอึกอักกับการตอบข้อสงสัยเรื่องนี้ ซึ่งนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ตั้งคำถามว่า เมื่อรัฐบาลอุ้มคนชนชั้นกลางขาดทุนทำไมไม่บ่น แต่พออุ้มคนชั้นล่างให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแต่ขาดทุนกลับบ่นเสียยับ!


กำลังโหลดความคิดเห็น