สุรินทร์- ชมรมโรงสีข้าวสุรินทร์เดือด ขนรถบรรทุกสิบล้อ-รถพ่วงม็อบปิดทางเข้าทางเข้าศาลากลางจังหวัดฯ ประท้วงโครงการระบายข้าวเปลือกหลุดรับจำนำ ยุ้งฉางของรัฐบาลไม่โปร่งใส่ เผยโรงสีทั้งจังหวัด 43 โรงผ่านการคัดเลือกจาก “อคส.” แค่ 11 โรง โดยไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ เชื่อทุจริตแน่ แฉมีนักการเมืองวิ่งเต้นเรียกค่าหัวคิวโรงสีได้เข้าร่วมโครงการ จี้ระงับโครงการฯ ฉาวไว้ก่อน ล่าสุดเคลื่อนขบวนรถบรรทุกเข้าปิดตายถนนสาย 24 เส้นทางหลักอีสานใต้ ยื่นคำขาดขอเจรจาตัวแทนรัฐบาล
วันนี้ (11 ก.ค. ) เวลา 10.30 น. ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ผู้ประกอบการ ชมรมโรงสีข้าวจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 18 โรง นำโดย นายโรจนินทร์ หิรัญโชติอนันต์ และนายณัฐวัฒน์ สมบูรณ์เทิดธนา ได้นำรถบรรทุกสิบล้อ และรถบรรทุกพ่วง จำนวน 18 คัน พร้อมป้ายข้อความมาจอดประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการระบายข้าวเปลือกหลุดจำนำยุ้งฉางปี 2554/2555 ของรัฐบาล หลังองค์การคลังสินค้า (อคส.) อนุมัติให้โรงสีข้าวใน จ.สุรินทร์เข้าร่วมโครงการเพียง 11 โรง โดยไม่ประกาศหลักเกณฑ์ พร้อมขอทราบหลักการดำเนินการและให้ระงับโครงการก่อน
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการโรงสีข้าว จ.สุรินทร์อีก 32 โรงที่ไม่ได้รับการพิจารณา ให้เข้าร่วมโครงการระบายข้าวเปลือกหลุดรับจำนำจากยุ้งฉางข้าวของเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจะนำรถบรรทุกเข้าปิดถนนทางหลวงหมายเลข 24 ทันที รวมทั้งขอเรียกร้องให้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) คนอวดเก่งปากกล้า ให้มาช่วยแก้ไขปัญหาให้ด้วย
จากนั้น นายโรจนินทร์ หิรัญโชติอนันต์ แกนนำผู้ประกอบการโรงสีข้าว จ.สุรินทร์ ได้ปราศรัยเรียกร้องขอความเป็นธรรม ในโครงการระบายข้าวเปลือกหลุดจำนำยุ้งฉางปี 2554/2555 ระบุว่า แม้ส่งหนังสือข้อเรียกร้องผ่านทางจังหวัดฯ ไปยัง อคส.ส่วนกลาง ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด และยังมีการประกาศและอนุมัติจุดรับข้าวให้โรงสีข้าวในจังหวัดสุรินทร์เพียง 11 โรง ในการรับข้าวเปลือกทั้งโครงการ ซึ่งมีอยู่มากถึง 80 ล้านกิโลกรัม
การดำเนินการโครงการระบายข้าวเปลือกหลุดจำนำยุ้งฉางปี 2554/2555 ไม่ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์ให้เป็นที่ทราบโดยเปิดเผยตามขั้นตอน ก่อให้เกิดการฮั้วกัน ทำให้โรงสีที่เหลืออีก 32 แห่งเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่จังหวัดสุรินทร์มีการประสานงานกับทางชมรมโรงสีข้าว และช่วยเหลืองานของจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ทราบว่า อคส.ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการคัดเลือกโรงสีข้าว 11 โรงเข้าร่วมโครงการ จากทั้งหมด 43 โรง
“ทำให้โรงสีข้าวอื่นๆ อีก 32 แห่ง ต้องประสบปัญหาขาดโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ขาดรายได้ที่ต้องดูแลคนงาน และที่สำคัญ เชื่อว่าโครงการนี้มีการทุจริตอย่างแน่นอน จึงไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ และคุณสมบัติของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งทราบว่ามีนักการเมืองวิ่งเต้น เรียกค่าหัวคิวโรงสีที่ได้เข้าร่วมโครงการด้วย” นายโรจนินทร์กล่าว
ด้าน นายณัฐวัฒน์ สมบูรณ์เทิดธนา ผู้ประกอบการโรงสีข้าว จ.สุรินทร์ กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวมารวมกันในครั้งนี้ เป็นการมาเรียกร้องความเป็นธรรมและทวงถามความคืบหน้าที่มีการยื่นหนังสือผ่านจังหวัดไปยัง อคส. เมื่อครั้งวันที่ 27 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา กรณีการเปิดจุดรับโครงการระบายข้าวเปลือกหลุดจำนำยุ้งฉางปี 2554/2555 ที่ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ให้ทราบ ซึ่งส่อไปในทางไม่โปร่งใส่ โดยอนุมัติเพียง 11 โรงจากโรงสีทั้งหมดในจังหวัดสุรินทร์ 43 โรง ทำให้โรงสีที่เหลืออีก 32 แห่งได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม
“การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มโรงสีเป็นอย่างมาก ผู้ที่อนุมัติทำได้อย่างไร จึงพากันมารวมตัวเพื่อรับทราบการดำเนินการดังกล่าว และขอให้มีการระงับโครงการดังกล่าวไปก่อน โดยยื่นหนังสือผ่านทางจังหวัดสุรินทร์ไปยัง อคส.ส่วนกลาง หากไม่ได้รับคำชี้แจงจะมีการเพิ่มระดับการชุมนุมต่อไป จนกว่าเรื่องดังกล่าวจะกระจ่าง” นายณัฐวัฒน์กล่าว
จากนั้นชมรมโรงสีข้าว จ.สุรินทร์ทั้ง 32 แห่งได้เข้าร่วมหารือกับ นายพิภพ ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ พร้อมยื่นหนังสือผ่านจังหวัดฯ ไปยัง อคส.ส่วนกลาง โดยมีพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์, การค้าภายในจังหวัดฯ, ตัวแทนจาก ธ.ก.ส. และเจ้าหน้าที่ อคส.จังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วมหารือ โดยการหารือในครั้งนี้ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้เนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการอนุมัติจาก อคส.ส่วนกลาง ซึ่งทางจังหวัดสุรินทร์ไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมาทางสมาชิกชมรมโรงสีข้าวจังหวัดสุรินทร์ได้เคยมายื่นหนังสือต่อทางจังหวัดฯ ผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการทวงถามถึงการดำเนินการ และทางจังหวัดสุรินทร์ได้ส่งหนังสือไปยัง อคส.ส่วนกลางแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ โดยในครั้งนี้ทางจังหวัดฯ ได้รับหนังสือของผู้ประกอบการอีกเป็นครั้งที่ 2 และจะส่งไปยัง อคส. เพื่อติดตามเรื่องนี้โดยเร่งด่วน เนื่องจากทาง อคส.ได้อนุมัติให้มีการระบายข้าวเปลือกโครงการฯ ดังกล่าวในไม่กี่วันนี้ และขอให้ระงับโครงการฯ ดังกล่าวนี้ไปก่อน หากยังไม่มีอะไรคืบหน้าจะส่งผลกระทบต่อโรงสีข้าวอีกหลายแห่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงสีได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.สุรินทร์ว่า อคส.ส่วนกลางได้มีการอนุมัติให้โรงสีทั้ง 11 แห่งได้เข้าร่วมโครงการระบายข้าวเปลือกหลุดจำนำยุ้งฉางปี 2554/2555 โดยจะมีการระบายข้าวออกจากยุ้งฉางในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวทั้ง 32 โรงไม่พอใจ แม้จะขอให้ระงับไว้ก่อน
ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุม ได้เคลื่อนรถบรรทุกเข้าปิดทางเข้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ทั้งสองด้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสุรินทร์ได้เข้าเจรจาขอร้อง จากนั้นได้เคลื่อนรถบรรทุกจำนวน 4 คันไปปิดถนนบริเวณสี่แยกหนองเต่า ทางเลี่ยงเมืองสุรินทร์ ซึ่งตำรวจภูธรเมืองสุรินทร์ได้เข้าเจรจาให้เปิดทางให้สัญจรไปมาได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ขณะที่ชมรมโรงสีข้าวจังหวัดสุรินทร์ยืนยันว่าจะยกระดับการประท้วงให้หนักกว่านี้ หากยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. กลุ่มผู้ประกอบการ ชมรมโรงสีข้าวจังหวัดสุรินทร์ เคลื่อนขบวนรถบรรทุกเดินทางมุ่งไปจอดปิดถนนบริเวณสี่แยกปราสาท อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ถนนทางหลวงหมายเลข 24 สายสีคิ้ว จ.นครราชสีมา-เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นถนนสายหลักของภาคอีสานตอนล่าง พร้อมได้นำเต็นท์มาตั้งบริเวณสี่แยกดังกล่าว ทำให้การจราจรที่จะมุ่งหน้าสู่จังหวัดอีสานใต้ และกรุงเทพฯ ถูกปิดตายเป็นอัมพาตทันที รถยนต์ทุกชนิดต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีข้าว จ.สุรินทร์ได้ยื่นเงื่อนไขขอเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลเท่านั้น หากภายใน 3 ชั่วโมงจากนี้ไปยังไม่มีตัวแทนรัฐบาลมาเจรจา ก็จะทำให้การปิดถนนยาวออกไปอีก ซึ่งล่าสุดได้รับการติดต่อจาก ส.ต.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ว่าจะเดินทางมาเจรจา และต่อสายตรงถึงรัฐมนตรีผู้รับผิด ในเวลาประมาณ 18.30 น.