xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมปัญญา เครื่องมือ “สร้างสุข” หลากสไตล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยเรื่อง “สุขภาวะทางปัญญา” ยังดูใหม่และเข้าใจได้ยากเสียหน่อย เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานครบรอบ 12 ปี ที่ผ่านมา จึงให้น้ำหนักกับการทำความเข้าใจในประเด็นการสร้างความสุขด้วยปัญญาไม่แพ้เรื่องสุขภาวะด้านอื่นๆ

โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่จากคนทำงานจริงในแต่ละโครงการได้เล่าประสบการณ์ ถอดบทเรียนจากการนำหลักคิดการใช้ปัญญามาเป็นกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมคู่ขนานกับการมีพี่เลี้ยงอย่างสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายให้สิ่งที่ (อาจ) เข้าใจยากแปรเปลี่ยนเป็นเรื่องง่าย คนทุกกลุ่มเข้าใจและนำไปใช้จริงได้

ช่วงหนึ่งจากวงเสวนา “นวัตกรรมสร้างสุขด้วยปัญญา” สรุปนิยาม “สุขภาวะทางปัญญา” แบบภาคปฏิบัติว่า คือการรู้เท่าทันในด้านดีและด้านชั่ว เข้าใจในมุมที่เป็นคุณและโทษด้วยการใช้เหตุผล ขณะเดียวกัน “ความรู้เท่าทัน”ยังต้องต่อยอดไปสู่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับสังคมด้วย

“นอกจากจะใช้เหตุผลพิจารณาได้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดีแล้ว สิ่งที่รู้เหล่านั้นยังต้องนำไปสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมด้วย เพราะเราคงไม่สามารถจะมีความสุขได้ หากยังเห็นว่าผู้อื่นยังเป็นทุกข์โดยที่เรามีศักยภาพจะทำอะไรได้”ธวัชชัย โตสิตระกูล ผู้จัดการโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ซึ่งเป็น 1 ใน 7 โครงการนวัตกรรมการสร้างสุขด้วยปัญญาบอก

ธวัชชัย อธิบายว่า การเท่าทันและการคิดเป็นแบบที่โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาตีความนั้นคือต้องรู้ว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริง ก่อนนำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริงเพื่อปูทางไปสู่ความสุขในแบบนั้น เช่น เมื่อรู้ว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่ปริมาณวัตถุ เงินทองเครื่องใช้ เราจึงต้องสร้างเส้นทางเพื่อไปสู่ความสุขแบบยั่งยืนและไม่ต้องใช้เงินซื้อมา ไม่ว่าจะเป็นความสุขของการมีสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ความสุขของการไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางในทุกๆ เรื่อง

“กิจกรรมประมวลกันว่า มีอะไรบ้างที่ทำให้เราต้องเป็นทุกข์ พบว่ามี 4 ข้อใหญ่ๆ นั่นคือการมีทุกข์เพราะเอาตัวเองเป็นสำคัญ มีทุกข์เพราะหลงใหลในวัตถุ มีทุกข์เพราะหวังในลาภลอยคอยโชคโดยไม่พึ่งตัวเอง และทุกข์จากการเห็นแก่ตัวจนไม่สนใจรอบข้าง ดังนั้นชุมชนหรือเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรมจึงต้องคิดกันว่าจะสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างไรเพื่อฝึกทักษะไม่ให้สมาชิกหลงใหลไปกับสิ่งเหล่านี้ เปรียบได้ว่ากิจกรรมการหาสุขแท้คือมองทุกข์และสุขที่มีอยู่จริงในสังคม แต่ไม่ใช่การหาจากหนังสือธรรมะหรือพระเทศน์ แต่เป็นการปฏิบัติจริง”

ขณะที่ในมุมของตัวแทนโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง “พฤหัส พหลกุลบุตร” มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เล่าว่า กิจกรรมที่พวกเขาร่วมทำขึ้นเพื่อทักษะการสร้างความสุข มีโจทย์แรกคือให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้าใจตัวเอง พร้อมๆ กับเข้าใจความเป็นมนุษย์จากชุมชนที่ลงไปเก็บข้อมูล นำไปสู่การสะท้อนปัญหาต่างๆ ที่รวบรวมข้อมูลได้ สื่อสารผ่าน “ละครชุมชน” ที่มีความน่าสนใจ และเป็นศิลปะที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในสื่อกระแสหลัก

“ปัญญาเกิดจากการคิด การตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ยกตัวอย่างการตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงในชุมชนภาคใต้เป็นบ้านเกิดของเยาวชนที่ร่วมกิจกรรม ซึ่งพื้นที่นี้กำลังพบกับเหตุการณ์การสร้างโรงไฟฟ้า หรือเรือประมงขนาดใหญ่ที่รุกล้ำเรือประมงพื้นบ้านที่มีศักยภาพด้อยกว่า เราจึงไปชวนเยาวชนในพื้นที่ให้คิดต่อเรื่องราวเหล่านี้ ไปเก็บข้อมูล เกิดวงสนทนาแลกเปลี่ยนกัน กระทั่งนำไปสู่การหาทางออกที่ดีขึ้น เป็นการรู้จักตนเองและชุมชนไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งเยาวชนเองจะมองแค่ในระดับปัจเจก ทำอะไรนึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เขาต้องมองสังคมภาพรวมด้วย และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ความรู้แต่ต้องลงมือปฏิบัติ” ผู้จัดการโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงอธิบาย

“ความเข้าใจในตัวเองและสังคมในสถานการณ์ที่เป็นจริง จึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติลำดับแรกๆ ที่จะทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมใช้เหตุผลแทนอารมณ์ในการตัดสินใจ” เวทีเสวนาสรุปประเด็น

จากนั้น “พนิดา บุญเทพ” มูลนิธีโกมลคีมทอง ตัวแทนโครงการค่ายอาสาเพื่อสังคม ยกตัวอย่างเนื้องานว่า การนำเยาวชนไปคลุกคลีกับพื้นที่จริงเพิ่มเติมจากความรู้ในห้องเรียนได้สร้างความสุขใหญ่ๆ ใน 2 รูปแบบ นั่นคือความสุขจากการเป็นผู้ให้ การมีจิตอาสาจนก่อเกิดเป็นพฤติกรรมถาวร และความสุขจากการเข้าใจความเป็นจริง ไม่ทุกข์ร้อนหรือมีความสุขเพียงตัดสินด้วยอารมณ์

“เคยมีน้องที่ร่วมกิจกรรมบอกว่ารำคาญม็อบ รำคาญพวกที่มาประท้วงอะไรต่างๆ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หรือรัฐสภา แต่เมื่อได้ลงไปสัมผัสกับชุมชน เห็นความทุกข์ร้อนที่เกิดจากความไม่เป็นธรรม เห็นความเป็นอยู่ที่ควรได้รับการแก้ไขที่ดีกว่านี้ ความรู้สึกรำคาญที่เคยมีในตอนแรกได้เปลี่ยนเป็นความเข้าใจ อาจจะไม่เห็นด้วยแต่เข้าใจว่าเพราะอะไรชาวบ้านกลุ่มต้องมาประท้วงถึงกรุงเทพฯ”

“เราไม่ได้หวังว่าคนที่มาทำงานเพื่อสังคม ใช้ปัญญาหาเหตุผลเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจะต้องเป็นเอ็นจีโอ เป็นอาสาสมัครเท่านั้น เขาจะเป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นพ่อค้าอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่สำคัญคือต้องเข้าใจปัญหา รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่มโนภาพเอาเองแล้วตัดสินใจเพราะอารมณ์อย่างเดียว”พนิดาอธิบาย

ส่วนถ้าใครสนใจอยากสร้างการฝึกความสุขทางปัญญาในแบบของตัวเอง “เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์”ผอ.สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.เชิญชวนว่า สามารถเข้ามาร่วมได้ใน 2 รูปแบบ โดยแบบแรกคือต่อยอดหรือเป็นส่วนหนึ่งจาก 7 ชุดโครงการที่ทำอยู่ก่อนแล้ว และสองคือคิดค้นขึ้นแบบใหม่เอี่ยม ทั้งนี้ติดต่อรายละเอียดการส่งโครงการได้ที่สำนักสร้างสรรค์ฯ

เรื่องของ “สุขภาวะทางปัญญา”จึงง่ายกว่าที่เคยได้ยินในตอนแรกไว้เยอะทีเดียว






กำลังโหลดความคิดเห็น