กรมอนามัยระบุเหตุที่ ปชช.ไม่ยอมเปลี่ยนส้วมนั่งยองเป็นนั่งราบ เพราะกังวลเรื่องความสะอาด และเปลืองน้ำ เร่งแก้ปัญหาเต็มสูบ ปัดเอื้อเอกชนขายส้วม บอกซื้อราคาถูกได้ แต่มีจับมือให้เอกชนทำ CSR บริจาคส้วมฟรี สั่ง สสจ.พิจารณาเกณฑ์ครอบครัวใดควรได้
วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกมลา อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกมลามีการทำโครงการสำคัญหลายโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่กรมอนามัยพยายามผลักดัน เช่น เด็กไทยไม่กินหวาน ลดอ้วน ไข้เลือดออก เหา เป็นต้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะศูนย์เด็กเล็กมีความสำคัญในการพัฒนาเด็กช่วงอายุ 0-6 ขวบ ให้โตขึ้นมามีไอคิวและอีคิวที่ดี เนื่องจากช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการพัฒนาการทางสมองมากที่สุด หากเลยจากนี้แล้วสมองจะพัฒนาน้อยลง นับเป็นโมเดลที่ดีมาก หากไทยมีศูนย์แบบนี้ทั้งหมด อนาคตจะมีเด็กไทยที่มีไอคิวอีคิวที่ดี มีประชากรที่ฉลาดเฉลียวและช่วยพัฒนาประเทศ
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า ครูในศูนย์เด็กเล็กกมลามีแนวทางการสอนเด็กที่ดี ที่สำคัญมีการสอนเด็กให้ใช้ส้วมอย่างถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการใช้ส้วมแบบนั่งราบ ซึ่งจากการสำรวจปี 2544 ส้วมคนไทย 90% ยังเป็นส้วมนั่งยอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมนิสัยมาตลอดจนกระทั่งโต เมื่อเปลี่ยนนั่งราบจึงไม่ถนัด ซึ่งการใช้ส้วมนั่งยองนานๆ จะก่อให้เกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อม ที่สำคัญหากห้องน้ำเปียกแฉะอาจลื่นหกล้ม หรือเมื่อลุกขึ้นเร็วๆ เกิดโรควูบ หน้ามืดเป็นลมในผู้สูงอายุได้ กรมอนามัยได้ผลักดันพัฒนาส้วมไทย โดยเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา ครม.มีมติผ่านแผนพัฒนาส้วมระดับที่ 3 แล้ว คือผลักดันให้บ้านต่างๆ ที่สาธารณะและสถานที่ราชการทุกแห่ง มีส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ห้องครบ 100% ที่สำคัญต้องสะอาดและปลอดภัย มีเพียงพอในการใช้ จากการมาดูศูนย์เด็กเล็กกมลาพบว่า มีการจัดการส้วมที่ดี เป็นการสร้างสุขลักษณะนิสัยเด็กให้ใช้ส้วมอย่างถูกหลักอนามัย
“สาเหตุที่ประชาชนยังไม่เปลี่ยนจากส้วมนั่งยองเป็นนั่งราบ เพราะมีความกังวลเรื่องความสะอาด และกลัวเปลืองน้ำ ซึ่งความจริงแล้วส้วมนั่งราบก็มีลักษณะที่เป็นแบบใช้น้ำราดเช่นกัน ไม่ได้มีเฉพาะแบบชักโครก ส่วนเรื่องความสะอาดมองว่าจะต้องแก้ไขในเรื่องพฤติกรรมการใช้และการรักษาความสะอาด จึงจะสามารถเปลี่ยนให้ประชาชนหันมาใช้ส้วมนั่งราบแทนแบบนั่งยองได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่าการให้ทุกสถานที่เปลี่ยนมาใช้ส้วมนั่งราบแทนส้วมนั่งยอง เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทสุขภัณฑ์เข้ามาขายผลิตภัณฑ์ นพ.เจษฎา กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการเอื้อเอกชน เพราะการเลือกซื้อส้วมก็ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อในราคาแพง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้ส้วมนั่งราบมากขึ้นได้มีการจัดโครงการร่วมกับเอกชนที่ต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยให้บริจาคส้วมนั่งราบแก่ประชาชน ซึ่งขณะนี้มีการบริจาคไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ตนยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่าเท่าใด ส่วนการพิจารณาว่าครัวเรือนใดจะได้รับบริจาคส้วมนั้นได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไปเลือกและพิจารณา โดยดูจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ผู้สูงอายุ โรคข้อเข่าเสื่อม ฯลฯ