xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ส้วมซึม ปฏิวัติปลดทุกข์ เพื่อสุข(า)ประชาราษฎร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถือเป็นการปฏิวัติพฤติกรรมการปลดทุกข์ครั้งใหญ่ของคนไทย ข่าวคราวการปลดระวาง ส้วมซึม ของภาครัฐ ทั้งยังเร่งรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนหันมาใช้ ส้วมชักโครก

ภายในปี 2559 ทุกครัวเรือนต้องใช้ส้วมชักโครก! เป้าหมายด้านสาธารณสุขไทยที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะช่วงกลางเดือนเมษาฯ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 พ.ศ.2556-2559 ประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556

ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ส้วมชักโครกลักษณะนั่งราบในครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างเสริมคุณภาพ ด้วยลักษณะการใช้งานรูปแบบการนั่งราบไปกับฝาสุขภัณฑ์นั่นอำนวยความสะดวกมากกว่า โดยเฉพาะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มอัตราส่วนขึ้น รวมทั้งคนพิการ หญิงตั้งครรน์ ผู้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน เหล่านี้ก็เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ควบคุมด้านโรคภัยไม่พึ่งประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

4 ปี ทุบส้วมซึมทั่วราชอาณาจักร
ใจความสำคัญที่ว่าด้วยเรื่องส้วมประกาศทราบโดยทั่วกัน อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลง ปรับมาตรฐานสุขภัณฑ์ในไทย ก็เพื่อควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ป้องกันอันตรายความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ส้วมอย่างถูกสุขลักษณะ ร่วมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลัก เริ่มแรกจะพุ่งเป้าไปที่ส้วมสาธารณะก่อน แล้วค่อยๆ ปลูกฝังค่านิยมใหม่ในครัวเรือน โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2559 ดังนี้

1. ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบนั่งราบ ร้อยละ 90
2. สถานบริการสาธารณะ และสถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบ อย่างน้อย 1 ที่ ร้อยละ 10
3. มีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90
4. คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 90
5.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50
6.จะว่าไปประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ยังคุ้นเคยกับพฤติกรรมการขับถ่ายแบบเดิมๆ เดาว่าอัตราส่วนของผู้ที่ใช้ส้วมซึมนั้นคงมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว คงต้องใช้เวลาในการปรับตัวไม่น้อย

แต่ไม่ได้บังคับว่าทุกคนทุกครัวเรือนจะต้องใช้ส้วมชักโครกเสียทั้งหมด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันผ่านสื่อหลายสำนักว่าเป็นแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้สุขภัณฑ์แบบนั่งราบกันอย่างถูกสุขลักษณะเสียมากกว่า

นพ.ชลน่าน อธิบายถึงวัตถุประสงค์หลักของแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย พ.ศ.2556 - 2559 ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ส้วมชักโครก ในสถานที่บริการสาธารณะ และในครัวเรือน เพื่อความปลอดภัย ลดการเกิดข้อเข่าเสื่อม จากการใช้ส้วมนั่งยองเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ที่มีประมาณ 6-8 แสนคนต่อปีอีกด้วย

ผลสำรวจในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในครัวเรือนมีอัตราสูงถึงร้อยละ 86ที่ใช้ส้วมซึม แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับเพิ่มอัตราส้วมชักโครกในส่วนนี้ จึงให้น้ำหนักการเปลี่ยนสู่สิ่งที่ดีไปที่ส้วมสาธารณะเป็นสำคัญ

นพ.ชลน่าน ให้ข้อคิดต่อพฤติกรรมการใช้ส้วมว่า การขับถ่ายโดยใช้ส้วมซึม การนั่งยองๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยง นอกจากเกิดโรคข้อเข้าเสื่อม ยังอาจส่งผลให้เป็นลมหน้ามืด รวมถึงการกำเริบของโรคหัวใจ โรคความดันฯ

การนั่งยองๆ ขณะขับถ่ายซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 5 นาทีต่อคน ทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขาถูกกดทับ เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ทำให้ขาชา หรืออ่อนแรง หน้ามืด อาจล้ม ศีรษะฟาดพื้น

“หากบ้านใดยังนิยมใช้ส้วมนั่งยองอยู่ ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ในสถานที่สาธารณะ 12 แห่ง ที่กำหนด เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว สถานที่ราชการ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ศาสนสถาน จะต้องมีส้วมนั่งราบบริการอย่างน้อยแห่งละ 1 ตามแผนแม่บทดังกล่าว ภายในปี 2559 ส่วนในระดับครัวเรือน กระทรวงสาธารณสุข ก็จะรณรงค์ให้ใช้ส้วมชักโครกให้ได้ร้อยละ 90 ซึ่งในการจะบรรลุเป้าหมาย จะต้องให้คนไทยสามารถซื้อโถส้วมนั่งราบไปใช้ในราคาถูกลงหรือใกล้เคียงกับส้วมนั่งยอง”

ย้ำว่าแผนแม่บทพัฒนาส้วมไทยนี้ ไม่ได้เป็นการบังคับแต่เป็นการรณรงค์ขอความร่วมมือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นการส่งเสริมสนับสนุนแก่ทุกครัวเรือน ทั้งนี้ ก็เพื่อสุขภาพอนามัยของทุกท่านเอง

เปลี่ยนสู่ 'สุขลักษณะ' ที่ดีกว่า
“อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ ฯลฯ จะไม่มีส้วมนั่งยองเด็ดขาด” ศ.ดร.สมจิตต์ สุพรรณทัสน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อธิบายว่าประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะปรับเปลี่ยนสุขภัณฑ์เป็นนั่งราบไม่ว่าจะในครัวเรือนหรือสาธารณะก็ตาม

ส่วนใหญ่ในประเทศจะมีใช้สุขภัณฑ์แบบนี้มานานแล้ว ขณะที่ไทยมีการพูดถึงการเปลี่ยนมาใช้ส้วมแบบนั่งราบได้ไม่นาน ซึ่งทางแม่งาน อย่าง นพ.ชลน่าน บอกว่าครั้งนี้เป็นแผนที่ดำเนินการเป็นวาะระที่ 3 แล้ว แต่กลับเป็นครั้งแรกภาคสังคมตื่นตัวให้ความสนใจ อาจเพราะว่าครั้งนี้มีการดึงหลายส่วนเข้าร่วม และออกเป็นพระราชกฤษฎีกาฯ กลายๆ ว่าเป็น 'วาระส้วมแห่งชาติ'

ผู้คร่ำหวอดทางด้านสาธารณสุขศาสตร์ท่านเดิม กล่าวว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศไทยมีการสนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้ส้วมนั่งราบ ถึงราคาอาจจะสูงกว่าส้วมนั่งยองแต่เชื่อเถอะว่าสุขภาพที่ได้กลับคืนมาดีกว่าอย่างแน่นอน

“ถามว่าดีกับประชาชนผู้ใช้มั้ย..ดีมาก เพราะป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ อย่างน้อยช่วยในเรื่องของผู้สูงอายุ ส้วมนั่งยองไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ ดีไม่ดีผู้ที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน น้ำหนักที่เกินมาตรฐาน เป็นโรคอะไรอาจล้มหัวคะมำลงมาได้ ยุ่งทั้งนั้น มันไม่เป็นผลดีแล้ว”

ความที่คนไทยจำนวนมากคุ้นกับพฤติกรรมขับถ่ายแบบนั่งยอง ก็คงต้องปรับตัวกันเป็นธรรมดา แรกๆ อาจยังรู้สึกเก้อไม่ชิน แต่มันไม่ใช่เรื่องยาก มิหนำยังถูกสุขลักษณะเอื้อต่อการขับถ่ายของเสีย

ปฏิเสธไม่ได้แรกๆ สำหรับคนที่ยังใหม่อาจขึ้นไปเหยียบบนฝาชักโครกเพื่อขับถ่ายในลักษณะนั่งยอง แต่ภาพวิธีใช้ส้วมที่แปะอยู่ใกล้ตา รวมทั้งการรณรงค์ใช้ส้วมอย่างถูกสุขลักษณะจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพวกเขาได้ในไม่ช้า

“อาจมีบ้างที่ขึ้นไปเหยียบ แต่มีภาพแสดงวิธีการใช้ส้วมอยู่ มันไม่น่ามีปัญหาเพราะไม่ใช่พฤติกรรมซับซ้อนอะไร”

เป้าหมายของทางภาครัฐที่คาดหวังให้ประชาชนหันมาใช้สุขภัณฑ์แบบนั่งราบถึงร้อยละ 90 ในเวลา 4 ปี ดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเหลือเกิน เพราะทั้งค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสุขภัณฑ์ การปรับพฤติการขับถ่าย ก็เป็นต้นทุนในการตัดสินใจ

ศ.ดร.สมจิตต์ แนะว่า การเริ่มต้นใช้ส้วมนั่งราบบริเวณสถานที่สาธารณะนั้นป็นปัจจัยที่ช่วยในการปรับพฤติกรรมการขับถ่ายของประชาชน บางทีอาจบังคับไปในตัวเลยว่ามีแต่ส้วมชักโครก เมื่อไม่มีตัวเลือกพวกเขาก็จะปฏิบัติตามกฎสังคมเอง

“พฤติกรรมการยอมรับคงไม่มีใครต่อต้าน เพียงแต่ยังมีความเคยชินกับส้วมนั่งยอง แต่พฤติกรรมเหล่านี้ปรับไม่นานจากนั่งยองมาเป็นนั่งโถส้วม ไม่ได้มีปัญหา”

แต่ในเรื่องความสะอาดส้วมสาธารณะในไทย อาจต้องยอมรับว่าด้อยกว่าในต่างประเทศอยู่มาก ยกตัวอย่าง สาธารณสุขในสแกนดิเนเวียทุกแห่งระบบจะดีมาก ฝาชักโครกใช้ระบบความร้อนฆ่าเชื้อโรคสามารถเลื่อนเข้าออกปรับเปลี่ยนอันใหม่

อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนมาใช้ส้วมแบบนั่งราบถือเป็นการยกมาตรฐานประเทศส่วนหนึ่ง แต่ประเด็นที่น่าสนใจ ศ.ดร.สมจิตต์ มองว่าในเรื่องการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนใช้เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เขายืนยันว่าส้วมนั่งราบนั้นเหมาะสำหรับสุขภาพการขับถ่ายมากกว่า

เรื่องสาธารณะไม่ใช่ขี้ประติ๋ว
นอกจากสุขภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสรีระมนุษย์ ในเรื่องความสะอาดก็เป็นเรื่องต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นพ. โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย อธิบายผ่านบทความเรื่อง ส้วม (ร่วมสมัย)...ใครคิดว่าไม่สำคัญ (1) เกี่ยวกับส้วมที่ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐาน ความว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศสำหรับส้วมสาธารณะของไทย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ความสะอาด (Healthy) ความพอเพียงหรือการเข้าถึงบริการ (Accessibility) ความปลอดภัย (Safety) หรือใช้คำย่อว่า HAS

เกณฑ์มาตรฐานของส้วมทั้งหมดมี 16 ข้อ ที่สำคัญจริงๆ คือกลุ่มเรื่องความสะอาด เช่น พื้นส้วม หรือผนัง เพดาน โถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ต้องสะอาด ไม่มีคราบสกปรก มีน้ำให้ชำระล้างเพียงพอ มีกระดาษชำระ มีสบู่ล้างมือ ถ้าถ่ายหนักแล้วไม่มีสบู่เชื้อโรคอาจปนเปื้อนติดมือได้ หรือต้องมีถังขยะที่มีฝาปิดอยู่ในสภาพดี ไม่รั่วซึม รวมทั้งต้องไม่มีกลิ่นเหม็น ระบายอากาศได้ดี เป็นต้น

เกณฑ์มาตรฐานกลุ่มแรก เรื่องการเข้าถึงบริการ หมายถึงต้องมีส้วมเพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้บริการ และต้องมีส้วมนั่งราบที่เพียงพอ เพราะถ้ามีแต่ส้วมนั่งยอง กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือคนที่ข้อเข่าไม่ดี จะมีปัญหา

เกณฑ์มาตรฐานกลุ่มสอง เรื่องความปลอดภัย เช่น สถานที่ตั้งของส้วมไม่ควรอยู่ในที่ลับตาคน ควรแยกห้องส้วมชายหญิง มีแสงสว่างเพียงพอ กลอนล็อกประตูแน่นหนา รวมทั้งพื้นห้องต้องแห้ง ผู้ใช้จะได้ไม่ลื่นล้ม

สำหรับส้วมสาธารณะตามแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย พ.ศ.2556 - 2559 กำหนดไว้ 12 ประเภท ได้แก่ 1. แหล่งท่องเที่ยว 2. ร้านจำหน่ายอาหาร 3. ตลาดสด 4. สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ 5. สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 6. สถานศึกษา 7. โรงพยาบาล 8. สถานที่ราชการ 9. สวนสาธารณะ 10. ศาสนสถาน 11. ส้วมสาธารณะริมทาง และ 12. ห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า, ดิสเคานต์สโตร์

…............
ในเรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ต้องตื่นตัวและปฏิวัติความเคยชินจากสุขภัณฑ์นั่งยอง ที่สำคัญที่สุด ภาคประชาชนคงต้องตระหนักปรับเปลี่ยนมานใช้สุขภัณฑ์แบบนั่งราบ เพราะหลายเสียงยืนยันว่าเอื้อประโยชน์ต่อการขับถ่าย สร้างเสริมสุขลักษณะที่ดี ถ้าไม่อย่างนั้นมติ ครม. คงไม่ยกส้วมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติแบบนี้หรอก!?


กำลังโหลดความคิดเห็น