xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ดึงสำนักงบฯ ช่วยแก้ต่างกรณีรถตู้ ยันตัวเลขเอกสารผิดจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ.เปิดโต๊ะแถลงแก้ต่างกรณีรถตู้อีกรอบ พร้อมคว้าตัวสำนักงบประมาณ ร่วมแถลงด้วย ยันเอกสารผิดพลาด ชี้ตัวเลขจัดซื้อจริงแค่วงเงิน 1 พันล้านบาทจำนวน 1 พันคัน เฉลี่ยราคาจัดซื้อคันละ 1.2 ล้านบาทตามราคากลางของสำนักงบฯ ที่กำหนดไว้ในการซื้อรถตู้ขนาด 12 ที่นั่ง ฟากสำนักงบฯ ช่วยยันผิดพลาดในการแก้ไขและเตรียมเอกสารไว้ให้ในขั้นการพิจารณาของ กมธ.แล้ว

วันนี้ (3 มิ.ย.) เมื่อเวลา 16.00 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ พร้อมนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสำนักงบประมาณ แถลงข่าวกรณีจัดซื้อรถตู้ 1,000 คันของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยนายเสริมศักดิ์  กล่าวว่า  กรณีที่มีการอภิปรายว่าการจัดซื้อรถตู้ตามโครงการนี้แพงเกินจริง จัดซื้อ 1,000 คัน วงเงินรวมสูงถึง 2,158 ล้านบาท. เฉลี่ยราคาจัดซื้อคันละ 2 ล้านบาท ขณะที่ราคาท้องตลาดแค่ 956,000 บาท   นอกจากนั้น งบประมาณดังกล่าวถ้านำไปจัดจ้างครูเพิ่มในอัตราเงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท สามารถจ้างครูได้ถึง 13,000 คน นั้น  ศธ.ขอยืนยันอีกครั้งว่า งบประมาณจัดซื้อรถตู้ 1,000 คันของ สพฐ.แค่ 1,232.4 ล้านบาทเท่านั้น แต่เนื่องจากเอกสารประกอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 มีความผิดพลาดจึงทำให้ข้อมูลออกมาคลาดเคลื่อน ราคาจัดซื้อที่ถูกต้องเฉลี่ยคันละประมาณ 1.2 ล้านบาท วงเงินนี้เป็นราคากลางที่กำหนดโดยสำนักงบประมาณ ซึ่งส่วนราชการต่างๆ ต้องปฏิบัติตามเคร่งครัด

ขณะเดียวกัน เรื่องที่มีการวิจารณ์ว่า การจัดซื้อมีการล็อกสเปกจงใจซื้อรถตู้ขนาด 12 ที่นั่ง โดยไม่ยอมจัดซื้อรถตู้ขนาด 16 ที่นั่งซึ่งได้ประโยชน์กว่านั้น เพราะตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้ใช้รถในการรับจ้างรับส่งนักเรียน พ.ศ. 2547 กำหนดให้รถรับส่งนักเรียนมีขนาดไม่เกิน 12 ที่นั่ง  เพราะฉะนั้น  จึงจำเป็นต้องกำหนดสเปกรถตู้ขนาด 12 ที่นั่งให้สอดคล้องกับระเบียบดังกล่าว อีกทั้งสำนักงานงบประมาณก็ไม่เคยจัดทำราคากลางของรถตู้ขนาด 16 ที่นั่งไว้ด้วยมีแต่ทำราคากลางของรถตู้ขนาด 12 ที่นั่งไว้ ทั้งนี้ รถตู้ที่จัดซื้อมา 1,000 คันนั้น จะจัดสรรไปให้โรงเรียนดีศรีตำบลจำนวน  850 คัน. ที่เหลืออีก 150 คันนั้น ใช้สำหรับการนำร่องควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในปี 2557 อย่างไรก็ตาม นอกจากจะนำรถตู้ไปใช้สำหรับรับส่งนักเรียนแล้ว ยังใช้สำหรับรับส่งครูเก่งหมุนเวียนไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน เช่น กิจกรรมกีฬา รวมถึงใช้สนับสนุนชุมชน

“การจัดซื้อรถตู้มาใช้รับส่งนักเรียนดังกล่าว เป็นแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่ สพฐ.ศึกษาแล้วว่า มีความเหมาะสม ปัจจุบัน มีร.ร.ขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คนลงมาถึง 14,816 โรง  คิดเป็นจำนวนเกือบครึ่งของโรงเรียนที่มีอยู่ทั้งหมด ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องคุณภาพเพราะขาดครูและสื่อการเรียนการสอน ซึ่งตั้งแต่ปี 2536 สพฐ.ได้พยายามคิดค้นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพ  การควบรวมโรงเรียน นำนักเรียนมาเรียนรวมกันพร้อมจัดรถรับส่งก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเพิ่มคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้ นอกจากนั้น จากการสังเกตพบว่า ที่โรงเรียนเอกชนมีเด็กมาเข้าเรียนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะเขามีรถรับส่งนักเรียน ทำให้ผู้ปกครองมีความสบายใจที่จะส่งบุตรหลานมาเข้าเรียน   ส่วนการจัดจ้างครูเพิ่มนั้น ถ้าจะทำจริงจะต้องจ้างเพิ่มถึง 70,000 คน ใช้งบประมาณ  1,000 กว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งแพงกว่าการจัดซื้อรถตู้ซึ่งจัดซื้อทีเดียวใช้ได้เป็นสิบปี  เสียค่าน้ำมันและคนขับแค่ปีละ 150 ล้านบาท”นายเสริมศํกดิ์ กล่าว

ด้าน น.ส.จรรยา อยู่โปร่ง ผู้อำนวยการสำนักจัดทำงบประมาณด้านสังคม 1 สำนักงบประมาณ กล่าวว่า เดิมสพฐ.ขอจัดซื้อรถตู้มา 2,000 คัน วงเงินประมาณกว่า 2,539 ล้านบาท แยกเป็น 1.จัดซื้อรถตู้ดีเซล 1,600 คัน วงเงินรวม 1,971 ล้านบาท และ 2.รถตู้เบนซิลพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ NGV จำนวน 400 คัน วงเงิน 568 ล้านบาท เป็นงบผูกพันปี 57-58 ภายหลังคณะรัฐมนตรีตัดเหลือรถตู้ดีเซล 1,000 คัน แต่เจ้าหน้าแก้เฉพาะตัวเลขงบประมาณของปี 2557 ลืมแก้ปี 58 เมื่อรียกตัวเลขรวมออกมาจึงเป็นตัวเลขที่ผิดพลาด  อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงบประมาณได้ทำใบแก้คำผิดเตรียมไว้แล้ว แต่จะเสนอในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ

สำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นยังไม่ถือว่าเจ้าหน้าที่ธุรการที่จัดทำเอกสาร มีความบกพร่องหรือมีความผิด เนื่องจากจะมีความผิดพลาดเช่นนี้ทุกปี ซึ่งเอกสารทั้งหมด 20 เล่มใหญ่ๆ จะเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 5 เล่ม ซึ่งเจ้าหน้าที่หนึ่งคนก็ทำเอกสารหลายหน่วยงาน ดังนั้น จึงเกิดความผิดพลาดได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ทำเอกสารดังกล่าวนี้ก็ยืนยันแล้วว่าได้เข้าไปแก้ไขข้อผิด พลาดแล้ว แต่พอเรียกข้อมูลออกมาเครื่องไม่แก้ให้เรา ดังนั้น ก็จะต้องไปแก้ไขระบบของเรา ซึ่งเอกสารที่สำนักงบฯจะทำเพื่อเสนอไปให้ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ นั้นมี 2 ฉบับ คือฉบับร่าง พ.ร.บ.จริงที่ใช้เป็นตัวหลัก และมีฉบับเอกสารประกอบ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วตัวเลขในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนั้นถูกต้องหมด แต่ฉบับเอกสารประกอบที่ฝ่ายค้านหยิบมาอภิปรายนั้นจะมีการแก้ไขตลอด ซึ่งสำนักงบก็แจกให้ฝ่ายค้านทั้ง 2 เล่ม แต่ในเอกสารประกอบจะผิดตรงตัวเลขปี 2558 แต่จะมีแก้ไข จะมีการปรับเพิ่มในขั้นกรรมาธิการ ที่จะมีการประชุมในวันพุธที่ 5 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นก็จะทำเป็นรายงานออกมาประกอบกับพ.ร.บ.ที่จะประกาศใช้ และหลังจากที่ประกาศใช้แล้วก็จะมีรายงานของกรรมาธิการที่แก้ไขยืนยันทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม ในส่วนราคากลางในการจัดซื้อประมาณ 1.2    ล้านบาทนั้น จัดทำไว้ตั้งแต่ ก.พ. 55 และมีการปรับปรุงทุกปี ราคากลางปี 56 อยู่ระหว่างปรับปรุงอยู่ จะนำมาใช้ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการ แต่เท่าที่ทำมาราคากลางม่เคยต่ำกว่า 1 ล้าน

นี้เป็นความผิดพลาดขั้นร่างประกอบของ พ.ร.บ. แต่เราจะมีการแก้ไขจริงๆ ในขั้นกรรมาธิการอีก  ที่ สำคัญตัวร่าง พ.ร.บ.ที่เราเสนอไปไม่ผิด ผิดแค่ร่างประกอบ พ.ร.บ.ที่เสนอควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.บ.ดังนั้น จึงไม่ถือว่าใครมีความผิด แต่หากตัว พ.ร.บ.ผิด จึงจะถือว่ามีความผิดร้ายแรง” ผอ.จรรยา กล่าว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น