xs
xsm
sm
md
lg

กินน้ำตาลมากต้นเหตุแห่งความชรา/ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเข้าช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนอบอ้าวหลายคนก็จะคิดถึงเครื่องดื่มหวานๆเย็นๆเช่น ไอศกรีมหรือไอติม ผลไม้ลอยแก้ว น้ำแข็งใส ขนมหวานน้ำกะทิ น้ำผลไม้ปั่น น้ำหวาน น้ำอัดลม และอื่นๆ เพื่อช่วยดับกระหายคลายร้อย อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ช่วยทำให้ความรู้สึกร้อนดีขึ้น สดชื่น กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาในทันที และคนส่วนมากก็มักจะติดอยู่กับความรู้สึกนี้หรือเรียกว่าติดน้ำตาลคือกินหรือดื่มอาหารต้องมีน้ำตาลหรือความหวานเป็นส่วนประกอบ เมื่อติดแล้วหากไม่ได้กินน้ำตาลก็จะรู้สึกไม่สดใส ไม่มีแรง หรือบางครั้งก็หงุดหงิด อารมณ์เสีย กลไกเมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจะถูกแปรรูปให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เพื่อให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ให้เป็นพลังงาน การที่เราได้รับน้ำตาลในปริมาณสูงจะทำให้มีระดับของน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และฮอร์โมนตัวหนึ่งที่สร้างมาจากตับอ่อนที่ชื่อว่าอินซูลินก็จะถูกสร้างมากขึ้นด้วยเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ แต่การที่ตับอ่อนต้องทำงานหนักเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้ตับอ่อนล้า หรือเกิดภาวะดื้อต่อินซูลินได้ และผลที่ตามมาก็คือการเกิดโรคเบาหวาน ในปี 2548 องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคเบาหวานเป็นโรคที่อันตรายเทียบเท่าโรคเอดส์ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากเบาหวานประมาณ 3.2 ล้านคนต่อปี ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ราว 3 ล้านคนต่อปี โดยมีผู้ป่วยวัยรุ่นที่เป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่อ้วน นอกจากนี้การที่ร่างกายเร่งการสร้างอินซูลินในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ร่างกายทำงานหนักมากเกินไปร่างกายก็จะเสื่อมโทรมและชราเร็วกว่าที่ควรเป็น

กลไกหนึ่งเมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นประจำ คือการเกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่ได้รับการยืนยันจากนักวิจัยแล้วว่ามีผลเกี่ยวข้องกับกระบวนการเสื่อมของร่างกายหรือความชราภาพ เกิดจากโมเลกุลของน้ำตาลไปเกาะติดกับโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบของอวัยวะ หรือเซลล์ต่างๆ ในร่างกายของเราปฏิกิริยานี้จะให้ผลผลิตที่เป็นพิษต่อร่างกายคือ AGEs (Advanced Glycation End-ProductS) สารตัวนี้ผ่านเข้าสู่เซลล์ร่างกายบริเวณไหนก็จะทำให้เซลล์บริเวณนั้นตายลงหรือการทำงานแย่ลง พอนานวันขึ้นก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเช่นสารตัวนี้จะไปทำลายสารคอลลาเจนและใยโปรตีนที่ผิวหนังทำให้ผิวเป็นริ้วรอยมีจุดด่างดำ เซลล์สมองเสื่อมทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ เมื่อน้ำตาลไปเกาะกับโปรตีนที่หลอดเลือดก็จะทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง โรคเบาหวานโดยความเสื่อมของตับอ่อน ทำให้ผลิตฮอร์โมนอินสุลินได้ไม่เพียงพอ หรือผลิตได้แต่อินสุลินที่ได้ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน และหากไปเกาะติดกับสายพันธุกรรมก็จะทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิดไปจากเดิม ทำให้ร่างกายเกิดการชราภาพอย่างถาวร

จากข้อมูลทางโภชนาการและสุขภาพย้อนหลังไปสิบปีของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า คนไทยมีการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินควร โดยนำมาซึ่งปัญหาหลักคือโรคอ้วนและโรคฟันผุ การรับประทานน้ำตาลมากๆ ยังส่งผลอันตรายต่อสุขภาพหลายประการโดยที่น้ำตาลซูโครส หรือฟรุกโตส ที่มีอยู่ในอาหารที่มีการเติมน้ำตาลเข้าไปนั้น นอกจากจะเร่งให้เกิดปฎิกิริยาไกลเคชั่นแล้วน้ำตาลที่มากเกินกว่าความจำเป็นของร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมทั่วร่างกาย และส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญโดยก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย คนไทยติดน้ำตาล มีการบริโภคน้ำตาลเกินกว่ามาตรฐานกำหนดถึง 3 เท่า คือ เป็นปริมาณสูงถึงคนละ 29.6 กิโลกรัมต่อปี หรือ เฉลี่ยวันละ 20 ช้อนชา ขณะที่ค่ามาตรฐานกำหนดให้บริโภคได้ไม่เกินคนละ 10 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 6-8 ช้อนชา

แนวทางลดการกินน้ำตาลเพื่อต้านความชรา
1.เน้นการดื่มน้ำเปล่า เครื่องดื่มชาหรือสมุนไพรที่ไม่เติมน้ำตาล ร่างกายต้องการน้ำวันละ 8 แก้วขึ้นไป น้ำช่วยขจัดของเสีย ขนส่งสารอาหารและออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆของร่างกาย รวมถึงให้ความชุ่มชื้นแก่เซลล์ การดื่มน้ำน้อยนอกจากจะทำให้ผิวไม่สดใสยังทำให้อวัยวะภายในของร่างกายต้องทำงานหนักเป็นที่มาของความเสื่อมโทรม
2.เน้นการรับประทานผลไม้สด โดยไม่ผ่านการแปรรูป แทนการรับประทานขนมหวาน เพราะอาหารในกลุ่มนี้ให้วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร แถมยังได้รสหวานจากน้ำตาลฟรักโทส กลูโคสจากที่ช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น อาจนำผลไม้มาปั่นทำเป็นไอศกรีมแท่ง หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆแช่แข็งแล้วใส่ในน้ำดื่มแทนน้ำแข็งก็จะได้น้ำดื่มกลิ่นผลไม้ แต่ไม่ได้น้ำตาลส่วนเกิน
3.น้ำตาลทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทราย น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลกรวด น้ำตาลมะพร้าว น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม ไซรัป น้ำตาลโตนด น้ำหวาน ไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป เมื่อเข้าสู่ร่างกายสุดท้ายจะเปลี่ยนไปเป็นกลูโคสดังนั้นจึงควรลดปริมาณการใช้น้ำตาลเหล่านี้ในอาหารและเครื่องดื่ม
4.บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าธรรมดาหลังจากกินขนมหวานหรือน้ำหวาน การที่ยังมีรสชาติของน้ำตาลอยู่ในปากจะทำให้มีความอยากอาหารอยู่และจะทำให้อยากกินขนมหวานอย่างอื่นเพิ่มเติม และยิ่งมีน้ำตาลตกค้างอยู่ในปากนานเท่าใด แบคทีเรียจะมีโอกาสทำลายฟัน หาโอกาสแปรงฟันหลังจากรับประทานอาหารหรือของว่างทุกครั้ง
5.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กโดย ไม่ให้ขนมหวาน ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต ทั้งต่อหน้าและลับตาเด็ก ไม่ควรแสดงความรักให้รางวัลปลอบใจเด็ก หรือฉลองเทศกาลต่างๆ ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลสูง
6.ชิมรสชาติอาหารก่อนปรุงทุกครั้ง ในบางครั้งเรามักจะติดการปรุงอาหารโดยการใส่น้ำตาลก่อนเสมอทำให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนเกิดโทษ และหากสั่งอาหารก็ควรเน้นว่าไม่หวานเนื่องจากหากรสชาติไม่หวานเราสามารถเพิ่มเติมเองที่ละน้อยได้
7.หากอยากจะกินขนมหวานน้ำแข็งใสก็ควรกินกับธัญพืชที่ให้ใยอาหารสูง เช่น ลูกเดือย ถั่วแดง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด หรือผลไม้รสไม่หวานเช่นฝรั่ง มะม่วงมันดิบ ลูกพรุน เนื่องจากใยอาหารจะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายและช่วยลดปริมาณความต้องการอินซูลินของร่างกาย ร่างกายก็จะไม่ทำงานหนักทำให้ร่างกายมีเวลาเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง นอกจากนี้ใยอาหารยังช่วยให้อิ่มท้องได้นาน ลดความหิวของหวาน ลดความอ้วนได้
8.อ่านฉลากโภชนาการที่บอกถึงปริมาณน้ำตาลที่ข้างกล่องว่า มีน้ำตาลซูโครส แล็กโทส ฟรักโทส กลูโคส มอลโทส น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง ไฮฟรักโทสคอร์นซีรัป คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์หรือเป็นกี่กรัมหากมีมากกว่า 15 กรัมหรือประมาณ 3 ช้อนชาก็ควรจะหลีกเลี่ยง
9.ร่างกายเราจะใช้เวลาประมาณ 10 วันในการปรับสภาพลิ้นที่ติดรสชาติอาหารหวาน ในช่วงแรกอาจทำให้รู้สึกว่าอาหารหรือเครื่องดื่มขาดรสหวานและรสชาติไม่เหมือนเดิม แต่หากให้เวลาสักพักร่างกายจะสามารถปรับและลิ้นจะมีความชินกับชาติอาหารที่ไม่หวานและต่อไปก็จะต้องการน้ำตาลลดลง
10.ในช่วงที่ลดน้ำตาลอาจมีการใช้สารให้ความหวานบางตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่น หญ้าหวานหรือ Stevia ใบของหญ้าหวานนี้จะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายขาวปกติถึง 30 เท่าจึงใช้เพียงปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าการศึกษาจะระบุถึงความปลอดภัยของหญ้าหวาน ไม่มีอันตรายในคน และไม่เกิดพิษสะสมได้ แต่กระนั้นก็ตามการใช้หญ้าหวานก็ควรที่จะระมัดระวัง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยเช่น ในบางรายอาจเกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้
ถึงแม้ว่าการได้รับน้ำตาลมากเกินไปจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคเรื้อรังและเร่งความชรา การได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมคือไม่เกินกว่า 5 ช้อนชาในหนึ่งวันก็ไม่ถือว่าอันตรายเนื่องมาจากน้ำตาลมีหน้าที่คือให้พลังงาน เพื่อใช้ในการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น การหายใจ การย่อยอาหาร การทำงานของต่อมมีท่อและไร้ท่อต่างๆ และที่สำคัญคือน้ำตาลเป็นอาหารของสมอง ร่างกายจะใช้พลังงานจากน้ำตาลก่อนสารอาหารประเภทไขมันหรือโปรตีน ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานก็ควรพกน้ำตาลติดไว้หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก็ควรดื่มน้ำหวานหรือลูกอมน้ำตาล และในผู้ที่สูญเสียเหงื่อหรือมีอาการท้องเสียการได้รับน้ำตาลก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้น ไม่อ่อนแรง ดังนั้นหากเราสามารถเลือกกินน้ำตาลให้ถูกต้องตามปัจจัยของแต่ละบุคคลเช่น อายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง กิจกรรมในแต่ละวัน ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะทำให้ร่างกายไม่ขาดสมดุลและไม่ก่อให้เกิด
กำลังโหลดความคิดเห็น