xs
xsm
sm
md
lg

ไขเทคนิค "แก้เครียด" สู้สารพัดปัญหาช่วงเปิดเทอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เปิดเทอม" ช่วงเวลาที่ใครหลายคนไม่อยากให้มาถึง เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับปัญหาจราจรติดหนึบในชั่วโมงเร่งด่วนแล้ว เหล่าผู้ปกครองยังต้องกลุ้มหนักกับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียน ค่าตำรับตำรา ค่าชุดนักเรียน และอีกสารพัด โดยเฉพาะยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้ หลายคนอาจถึงขั้นหัวหมุน เพราะชักหน้าไม่ถึงหลัง ถึงขั้นต้องไปจำนำจำนอง ขายนาส่งให้ลูกเรียนก็มี

แต่ที่แน่ๆ ผลที่ตามมาจากภาวะดังกล่าวคือ...ความเครียด

สอดคล้องกับผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ที่ระบุว่า สิ่งที่ผู้ปกครองวิตกกังวลในช่วงเปิดเทอมมากที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายต่างๆเกี่ยวกับการเล่าเรียน เช่น ค่าเทอม ค่าเสื้อผ้า ชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 38.24 รองลงมาคือ การเดินทางไปเรียนของบุตรหลาน การจราจร และความปลอดภัย ร้อยละ 24.77

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงเปิดภาคเรียนใหม่หลายครอบครัวอาจมีปัญหาด้านการเงิน เพราะต้องใช้จ่ายไปกับค่าเสื้อผ้า ค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียนใหม่ของลูกๆ ยิ่งถ้าบุตรหลานต้องเปลี่ยนระดับชั้น เช่น เข้า ม.4 หรือ มหาวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกเท่าตัว เมื่อจำนวนเงินที่จ่ายไม่สมดุลกับรายรับความเครียดทั้งหมดจึงตกอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น อยากให้คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเตรียมรับมือกับสถานการณ์ หากมีความตึงเครียดต้องรู้จักจัดการกับความเครียดด้วยตนเอง ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน

วิธีที่ 1 ฝึกการหายใจ โดยการหายใจเข้าลึกๆ เป็นการผ่อนคลายความเครียดที่ง่ายดาย และมีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย เพราะเป็นการเติมออกซิเจนในเลือดที่ช่วยปลุกสมองให้ตื่นตัว ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและทำให้จิตใจความคิดสงบ การฝึกหัดหายใจสามารถทำได้ทุกหนทุกแห่งและได้ผลอย่างรวดเร็ว และสามารถคลายเครียดได้ในพริบตา

วิธีที่ 2 ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เริ่มด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อทั้งหมดบนใบหน้า แยกเขี้ยวและยิ้มค้างไว้ 10 วินาทีแล้วผ่อนคลาย 10 วินาที ทำซ้ำกับกล้ามเนื้อคอ ตามด้วยไหล่ และกล้ามเนื้ออื่นๆ ซึ่งสามารถทำแบบนี้ได้ทุกที่ จะสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดได้ง่ายกว่า เร็วกว่าในเวลาไม่กี่นาที โดยไม่ต้องมีการฝึกฝนหรือใช้เครื่องมือพิเศษใดๆ

วิธีที่ 3 การออกกำลังกาย จะช่วยหันเหความสนใจไปจากสถานการณ์อันตึงเครียดและทำให้ชื่นบานด้วยการหลั่งของเอนโดรฟิน

วิธีที่ 4 การสร้างอารมณ์ขันให้กับตัวเองด้วยการหัวเราะโดยเฉพาะเมื่อเวลาเกิดความเครียด เพราะการหัวเราะจะช่วยลดความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี หรือจัดเวลาสำหรับงานบันเทิงคุยเรื่องตลกหรือดูตลกร่วมกับคนในครอบครัว

วิธีที่ 5 การนอนหลับพักผ่อนอย่างพอเพียงวันละ 7-8 ชั่วโมง จะทำให้ลดความเครียดและความวิตกกังวลได้

วิธีที่ 6 การฝึกทำสมาธิ จะสามารถช่วยลดความเครียดได้อย่างมหาศาลและต่อสู้กับปฏิกิริยาในแง่ลบจากความเครียดและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เมื่อเกิดปัญหาจะช่วยให้ควบคุมอารมณ์ได้ดี

"ที่สำคัญอย่าปล่อยให้ครอบครัวต้องจมอยู่กับความเครียด ควรรู้จักที่จะจัดการความเครียดให้ได้ ไม่หงุดหงิดใส่กัน ไม่สร้างบรรยากาศตึงเครียดให้เพิ่มขึ้น สมาชิกในครอบครัวควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทานข้าวร่วมกัน หันหน้าปรึกษากันอย่างตรงไปตรงมา เล่าสารทุกข์สุกดิบ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ลูกจะได้เข้าใจสถานะทางการเงินของครอบครัว ก็ย่อมหาหนทางออกได้ไม่ยาก ถ้าบ้านไหนที่เงินฝืดเคือง หมุนเงินไม่ทัน ลูกก็ต้องช่วยกันเป็นธุระเดินเรื่องให้พ่อแม่ เช่น ติดต่อครูที่ปรึกษาเพื่อแจ้งปัญหาทางการเงินของที่บ้าน ให้ครูช่วยหาหนทางที่เหมาะสม เช่น กู้เงินยืมเรียนของโรงเรียน ขอทุนการศึกษาอย่ามัวน้อยอกน้อยใจหรืออับอายใครเขา เพราะพวกเขาช่วยแก้ปัญหาของเราไม่ได้"

พญ.พรรณพิมล แนะนำด้วยว่า การฝึกทำบัญชีรายรับรายจ่ายก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความตึงเครียดด้านภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวได้ ดังนั้นแต่ละครอบครัวควรฝึกทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้เป็นนิสัย จะได้มีการวางแผนการใช้เงินว่าจะต้องจ่ายในสิ่งใดเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เป็นการฝึกนิสัยให้รู้จักมัธยัสถ์ ไม่หรูหราฟุ่มเฟือยจนเกินกำลังเงิน

นอกจากความเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองแล้ว ตัวเด็กๆ เองก็อาจมีความเครียดในช่วงเปิดเทอมได้เช่นกัน เพราะเมื่อเปิดเทอมย่อมต้องมีการปรับตัว หากปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดความเครียด พญ.พรรพิมล ยกตัวอย่างว่า ในเด็กเล็กจะกังวลเรื่องการปรับตัวห่างพ่อแม่ กลัวการเข้าห้องน้ำเอง กลัวกินอาหารใหม่ๆ กลัวเพื่อนแปลกหน้า หรือกลัวถูกครูดุ สำหรับวัยรุ่นจะมีปัญหากังวลเรื่องการปรับตัวกับเพื่อนกลุ่มใหม่ ถูกเพื่อนปฏิเสธ ส่วนวัยอุดมศึกษาก็เครียดและกังวลเรื่องการปรับตัวในการเปลี่ยนสถานที่เช่นเดียวกัน หลังจากปิดเทอมไปนานอาจยังคุ้นกับการอยู่บ้าน อยู่กับพ่อแม่ และยังไม่อยากไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องให้เวลาเด็กๆได้ปรับตัว แรกๆเปิดเทอมก็อาจจะต้องไปส่ง หรือใส่ใจเขามากขึ้น มีการพูดคุยกับลูกให้บ่อย เพื่อให้เขาได้กลับไปร่าเริงกับเพื่อนๆและการเรียนให้ได้เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเปิดเทอมหรือปิดเทอม หรืออยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เมื่อเกิดความเครียดก็ควรที่จะต้องรู้จักจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม อย่างน้อยที่สุดก็ควรบอกเล่าสารทุกข์สุกดิบให้แก่คนในครอบครัวฟังเพื่อช่วยกันแก้ปัยหา ก่อนที่อกจะแตกตายกันไปเสียก่อน!!


กำลังโหลดความคิดเห็น