xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! กทม.ยังมี 94 ป้ายยักษ์รอแก้ไขรื้อถอน เร่งตรวจสอบหวั่นล้มเพราะพายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวกรุงระวัง! 94 ป้ายยักษ์รอการแก้ไขรื้อถอน ด้าน กทม.ปลื้มผลงาน 4 ปี ลดป้ายขนาดใหญ่ทั่วกรุงลงครึ่งหนึ่ง ลดสถิติป้ายล้ม กำชับทุกเขตตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หวั่นรับแรงพายุฝนไม่ไหว แนะ ปชช.หลบอยู่ในอาคารห่างจากสิ่งที่อาจโค่นล้ม หากเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พร้อมเร่งลอกท่อช่วยระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (20 พ.ค.) เวลา 10.30 น. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายจุมพล สำเภาพล นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.และนางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษก กทม. ร่วมกันแถลงมาตรการดูแลความปลอดภัยประชาชนช่วงฤดูฝนของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝน อาจเกิดพายุหมุนเขตร้อน ลมกระโชกแรง ฝนตกหนัก และน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ดังนั้น กทม.จึงได้เตรียมมาตรการในการป้องกันและดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.

นางสาวตรีดาว กล่าวว่า น้ำที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กทม.มาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ น้ำฝนในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.และเดือน ต.ค.-พ.ย.จะมากจากน้ำเหนือและน้ำหลาก อย่างไรก็ตาม กทม.เตือนภัยจากพายุหมุนเขตร้อนประจำปี 2556 ซึ่งสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติภัยจากพายุหมุนเขตร้อนประจำปี 2556 โดยเบื้องต้น สปภ.ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุหมุนเขตร้อนและพายุฝนฟ้าคะนอง โดยเมื่อเกิดลมพายุหมุนหรือฝนฟ้าคะนองให้หลบอยู่ในอาคารสถานที่ปลอดภัย และอยู่ห่างจากสิ่งที่อาจโค่นล้มได้ เช่น ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ต้นไม้ และเสาไฟฟ้า กรณีอยู่ในที่โล่งแจ้งไม่ควรหลบ หรือเพิงพักที่อยู่โดดเดี่ยว ไม่ควรใส่เครื่องประดับ หรือถือวัตถุโลหะ ควรอยู่ห่างวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ลวดโลหะ ท่อน้ำ และแนวรั้วบ้าน ควรงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และโทรศัพท์ หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ขึ้นลงในอาคารสูงและควรใช้บันไดแทน เนื่องจากอาจเกิดไฟดับทำให้ติดค้างอยู่ภายในลิฟต์ รวมทั้งดูแลสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย ตลอดจนตัดแต่งกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรงหรือพาดอยู่บนสายไฟ เพื่อป้องกันการหักโค่นล้มทำความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานเขต หรือสายด่วน กทม.โทร.1555 หรือ โทร.199 ตลอด 24 ชั่วโมง



ด้าน นายจุมพล กล่าวด้วยว่า แต่ละสำนักจะมีแผนปฏิบัติการซึ่งได้กำชับให้สำนักการโยธา (สนย.) และสำนักงานเขต 50 เขต ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนด หากตรวจสอบพบว่ามีป้ายไม่มั่นคงแข็งแรงให้แจ้งเจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขด่วนที่สุด โดยเฉพาะในจุดที่มีความเสี่ยง เช่น เขตโรงเรียน ชุมชน เนื่องจากหากเกิดพายุลงแรงอาจโค่นล้มและเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในส่วนของป้ายผิดกฎหมายให้เร่งรัดดำเนินการ รื้อถอน พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายผิดกฎหมาย

ปัจจุบัน กทม.มีข้อบัญญัติการควบคุมป้ายโฆษณา รวมทั้งป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้าอาคาร ให้มีระยะห่าง 50 เมตรจากเขตทางพิเศษ ทางรถไฟ ถนนสายสำคัญหลายสาย รวมทั้งพื้นที่ภายในรัศมี 200 เมตรโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ กับพื้นที่ภายในระยะ 50 เมตรจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ยกเว้นป้ายบางอย่างตามที่กำหนดไว้ในประกาศ

ทั้งนี้จากเดิมในพื้นที่ กทม.มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ประมาณ 1,600 ป้าย บนถนนสายหลักกว่า 150 เส้นทาง ซึ่งจากการรณรงค์และตรวจสอบ 4 ปีที่ผ่านมาตามนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เหลือป้ายโฆษณาประมาณ 900 ป้าย ซึ่งยังคงมีการตรวจสอบต่อเนื่อง มี 24 ป้ายที่รอเจ้าของแก้ไข ทำให้มีความมั่นคงแข็งแรง และ อีก 70 ป้ายที่รอรื้อถอน ซึ่งถือว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจำนวนป้ายลดหายไปเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์อีกทั้งจากเดิมสถิติป้ายล้ม 10-20 ป้ายต่อปี แต่ขณะนี้พบเหตุป้ายล้มเพียง 1 ป้าย อย่างไรก็ตาม กทม.ไม่ได้ละเลยการดำเนินการยังคงตรวจสอบป้ายขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชนร่วมกันเป็นหูเป็นตา หากพบป้ายผิดกฎหมายโปรดแจ้งสายด่วน กทม.โทร.1555

นายจุมพล กล่าวอีกว่า กทม.ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและความเรียบร้อยของสัญญาณไฟ รวมถึงจัดรถสายตรวจพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ช่วยเหลือ ได้แก่ น้ำยาเคมีกำจัดความชื้น สายโยงลากรถ ชุดเครื่องมือซ่อมเบื้องต้น เพื่อเข้าช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องขอจากประชาชน อีกทั้งจัดคนงานรักษาความสะอาดจากสำนักงานเขตจัดเก็บเศษขยะและใบไม้หน้าตะแกรง เพื่อเปิดทางน้ำไหลลงท่อระบายน้ำได้สะดวก ดูแลไม่ให้ขยะตกค้าง พร้อมกันนี้ กทม.ขอความร่วมมือจากประชาชนไม่ทิ้งขยะมูลฝอยลงบนถนนหรือคูคลองเพื่อไม่ให้อุดตันท่อระบายน้ำ ขอความร่วมมือให้แยกขยะก่อนทิ้ง และทิ้งขยะถูกที่ถูกเวลาตามที่สำนักงานเขตกำหนด

ในส่วนของถนนเป็นหลุมบ่อ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรนั้น กทม.ได้มอบนโยบายให้ 50 สำนักงานเขต ปรับปรุงหน่วยเบสท์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นพร้อมทั้งจัดหาวัสดุต่างๆ ในการซ่อมแซมถนนชั่วคราวให้พร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่ทันที เช่น หินคลุก แอสฟัสด์ พร้อมทั้งติดป้ายแจ้งเตือนประชาชนในการใช้เส้นทางสัญจร นอกจากนี้ ยังการให้หน่วยเบสท์จากสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ และสำนักการโยธา ซึ่งรับผิดชอบถนนสายหลักเร่งซ่อมแซมถนนหลุมบ่อบนถนนสายหลักให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชน

ด้าน นายอมร กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต พร้อมทั้งจัดจ้างกรมราชทัณฑ์ เร่งดำเนินการล้างทำความสะอาดและลอกท่อระบายน้ำ 6,090 กิโลเมตร ให้เป็นไปตามแผน ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จทุกเส้นทางในเดือน ก.ค.2556 ขณะนี้ผลงานรวมคืบหน้าร้อยละ 42.02 พร้อมทั้งเปิดทางน้ำไหลตามคูคลองต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผลงานคืบหน้าแล้วร้อยละ 65.41 เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูฝนที่กำลังมาถึง เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน เบื้องต้นจากการประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2556 ยังไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามกทม. หากเกิดฝนตกพายุเขตร้อนส่งผลให้ฝนตกหนักมากกว่า 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จำเป็นต้องใช้เวลาในการรอระบายน้ำไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งกทม.ได้เตรียมพร้อมหน่วยเบสท์ (BEST) กว่า 700 คน ประจำจุดเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบนถนนสายต่างๆ รวมถึงบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วมเพื่อเร่งระบายน้ำบนถนน จำนวน 1,322 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 54 เครื่อง เพื่อเร่งผลักดันน้ำลงสู่คูคลองและแม่น้ำให้เร็วที่สุด ตลอดจนจัดเตรียมกระสอบทรายไว้ประมาณ 5.8 ล้านใบสำหรับฤดูน้ำหลากด้วย ทั้งนี้ กทม.ได้พร่องน้ำในแก้มลิง และดึงน้ำจากท่อระบายน้ำเพื่อเตรียมพร้อมรับปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วซึ่งจะสามารถรับได้ประมาณ 960 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามรายงานสภาพฝนจากเรดาร์ทุกชั่วโมง ทางเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ dds.bangkok.go.th หรือเฟซบุ๊กสำนักการระบายน้ำ bkk.best และทวิตเตอร์ bkk_bests หรือสอบถามและขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม โทร.0-2245-5115 ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น