xs
xsm
sm
md
lg

ไฉนเอาทั้งครูทั้งหมอไปจากชนบท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และกรรมการชมรมแพทย์ชนบท

ชนบทไทยวันนี้ในระดับหมู่บ้านหรือตำบล มีข้าราชการเหลือดูแลประชาชนอยู่กี่คน ก็เห็นมีแต่ครูประชาบาลกับหมออนามัยที่ยังทำหน้าที่ และหลายคนทำเกินหน้าที่ เพราะเขาได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้านของชุมชนตรงนั้น ครูในชนบทไม่ใช่แค่สอนหนังสือ หมออนามัยในชนบทก็ไม่ใช่แค่หมอรักษาโรค แต่ทั้งครูและหมอในชนบทคือส่วนปลายสุดของการดูแลประชาชนของรัฐที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนชนบท เป็นทุนทางสังคมเป็นผู้นำธรรมชาติในชุมชนชนบทที่สำคัญยิ่ง เป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง เป็นความหวังของคนยากไร้ เป็นแบบอย่างความใฝ่ฝันของเด็กน้อย เป็นอุดมคติที่ยังหลงเหลือของคนขบถในสังคมไทย
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
การยุบโรงเรียนเพราะเด็กเรียนน้อย ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่คุ้มงบประมาณ ไม่ได้มาตรฐาน เป็นวิธีคิดแบบทุนและธุรกิจที่มองกำไรขาดทุน มองเห็นแต่ตัวเลขและการประเมินในเศษกระดาษที่ไม่เห็นชีวิตคน แต่หากเราคิดแบบการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขที่มุ่งเกื้อหนุนให้ทุกคนมีโอกาสที่จะสร้างชีวิตให้ดีขึ้น ยิ่งจนยิ่งด้อยโอกาสยิ่งอยู่ในชนบทห่างไกล ยิ่งต้องได้รับการดูแลให้โอกาสมากกว่าคนในเมือง การยุบโรงเรียนเป็นหมื่นแห่งย่อมไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีนโยบายเมดิคัลฮับที่มุ่งขยายโรงพยาบาลเอกชนกอบโกยรายได้จากคนไทยที่มีฐานะและชาวต่างชาติ เมื่อโรงพยาบาลเอกชนขยายตัวก็ดูดแพทย์เฉพาะทางไปจากโรงพยาบาลจังหวัด เมื่อโรงพยาบาลจังหวัดขาดแพทย์ก็เปิดทุนดูดแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชน แม้จะมีการผลิตแพทย์เพิ่มได้ปีละกว่า 1,500 คน แต่ถึงวันนี้หมอในโรงพยาบาลชุมชนกว่า 700 แห่งก็มีไม่ถึง 4,000 คน อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขยังมีแนวคิดสุดขั้วที่จะเอาระบบประเมินแบบตัวเลขมาใช้กับโรงพยาบาลทุกระดับเหมือนๆกันด้วยระบบที่เรียกว่า P4P ทำให้หมอต้องมาทำงานแบบเก็บแต้มแลกเงิน แทนที่จะทำงานด้วยหัวใจและอุดมการณ์ในฐานะแพทย์ ในที่สุดจะยิ่งสร้างความโกลาหลแตกแยกและผลักไสให้หมอออกจากโรงพยาบาลชุมชนในชนบทเร็วขึ้น การเอาหมออนามัยออกจากสถานีอนามัยและหมอชนบทออกจากโรงพยาบาลชุมชนจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามจะเป็นหายนะที่สำคัญของระบบสุขภาพไทย

นโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กกว่าหมื่นแห่งของกระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นวิธีคิดเดียวกัน คือการศึกษาต้องมีมาตรฐานเดียว เด็กบ้านนอกก็ต้องเรียนเรื่องแม่น้ำไนล์แทนที่จะเรียนคลองข้างบ้าน พอครูไม่พอเด็กมีน้อยก็คิดแต่ต้องยุบรวมโรงเรียน แทนที่จะคิดว่าในพื้นที่ชนบทเช่นนี้จะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เหมาะกับบริบทของชุมชนนั้นๆ ยิ่งเล็กยิ่งใกล้ชุมชนความจริงน่าจะยิ่งสามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้มากกว่าแบบเหมาโหล แต่อนิจจาวิธีคิดแบบทุน เอาฐานเงินเป็นตัวตั้งเหมือนการคิด P4P ที่ให้หมอนับแต้มแลกเงิน คำตอบที่ง่ายและไม่รับผิดชอบจึงออกมาที่การยุบโรงเรียน

วันนี้ปิดโรงเรียนขนาดเล็ก อนาคตอาจปิดสถานีอนามัยขนาดเล็กใครจะไปรู้ แทนที่จะปิดโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการควรถามตนเองก่อนว่า แล้วโรงเรียนเล็กๆในชนบทควรจัดระบบการศึกษาอย่างไรให้สอดคล้องกับวิธีชุมชน ควรจะสร้างแรงจูงใจเพื่อรักษาครูที่มีอุมการณ์ให้สอนอยู่ที่นั่นให้นานที่สุดได้อย่างไร สำหรับหมออนามัยหรือแพทย์และทุกวิชาชีพสุขภาพในโรงพยาบาลชุมชนก็เช่นเดียวกัน ในชุมชนชนบทเขาไม่ได้ต้องการทางด่วนแสงสีหรือห้างสรรพสินค้าแอร์เย็นๆ เขาต้องการแค่ครูกับหมอ หากรัฐบาลจัดให้ไม่ได้ รักษาครูและหมอให้อยู่ในชนบทไม่ได้ ก็ควรพิจารณาตนเองให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน

ขณะนี้แพทย์ชนบทและวิชาชีพสุขภาพกำลังอารยะขัดขืนขอให้ “รมต.ประดิษฐ ออกไป” สงสัยต้องชวนคุณครูมาร่วมชุมนุมเพื่อตะโกนบอกไปว่า “รมต.พงศ์เทพ ออกไปด้วย” เพราะประดิษฐ-พงศ์เทพ คือผู้ทำให้ชนบทไม่มีหมอไม่มีครู
กำลังโหลดความคิดเห็น