xs
xsm
sm
md
lg

เร่งหญิงไทยตรวจนมตัวเอง เจอก้อนไม่เจ็บอันตรายสุดๆ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิถันยรักษ์เดินหน้าโครงการตรวจเต้านมด้วยตนเอง สกัดมะเร็งเต้านม ชี้เจอก้อนไม่เจ็บอันตรายมาก ดึง อสม.ช่วยตรวจและบันทึกเพิ่มความสม่ำเสมอในการตรวจ พร้อมหารือ สธ.ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือให้ความรู้ประชาชน คาดปี 2020 มะเร็งเต้านมขึ้นอันดับ 1 ป่วยตายของผู้หญิงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

นพ.ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งที่หญิงไทยป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดคือ มะเร็งเต้านม ทั้งที่ในอดีตไม่มีใครสนใจ และเชื่อว่าโรคนี้จะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของการป่วยและเสียชีวิตในผู้หญิง แต่เมื่อตนทูลเกล้าฯ เรื่องดังกล่าวต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ซึ่งทรงสนพระทัยในเรื่องสุขภาพของประชาชน พระองค์จึงทรงศึกษาเรื่องนี้ประมาณ 3-4 เดือน และทรงเชื่อว่าหญิงไทยจะป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมสูงขึ้น พระองค์จึงได้พระราชทานคำแนะนำว่า หากจะช่วยให้หญิงไทยรอดพ้นจากโรคนี้จะต้องตั้งมูลนิธิขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิถันยรักษ์ในที่สุด ทั้งนี้ สมเด็จย่าทรงแนะนำด้วยว่ามูลนิธิจะต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ และต้องช่วยเหลือทั้งคนจนและคนรวยอย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อ 18 ปีที่แล้วมะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงคือ โรคมะเร็งปากมดลูก ส่วนมะเร็งเต้านมก็มีการติดอันดับแต่ไม่มีใครพูดถึง จนเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วมะเร็งเต้านมขึ้นมาเป็นอันดับ 1 การป่วยและเสียชีวิตในหญิงไทย ที่สำคัญในอีก 7 ปีข้างหน้าหรือปี 2020 โรคนี้จะเป็นโรคอันดับ 1 การป่วยและเสียชีวิตของผู้หญิงในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา เพราะมะเร็งปากมดลูกมีการตรวจคัดกรองที่ได้ผล ทำให้สถิติลดลง มะเร็งเต้านมจึงขึ้นมาแทนที่” นพ.ธรรมนิตย์ กล่าว

นพ.ธรรมนิตย์ กล่าวว่า แม้มูลนิธิจะพยายามช่วยเหลือการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทั้งคนจนและคนรวยอย่างเท่าเทียมกัน แต่คนจนก็ยังคงมีโอกาสเข้าถึงการตรวจเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมน้อยกว่า ทางมูลนิธิจึงหาวิธีในการช่วยเหลือคนจนทั่วประเทศ โดยประสานไปยังกรมอนามัย ซึ่งมี นพ.วัลลภ ไทยเหนือ เป็นอธิบดีในสมัยนั้น ทำการรณรงค์ให้หญิงไทยตรวจเต้านมด้วยตนเอง ซึ่งมีการทำและพัฒนาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี โดยเมื่อปี 2555 มูลนิธิฯจึงนำบทเรียนดังกล่าวมาปรับใช้ ทำเป็นโครงการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่า โดยรณรงค์ให้หญิงไทยตรวจเต้านมด้วยตนเอง นำร่องใน 19 จังหวัด โดยมี 4 จังหวัดทำทุกอำเภอ และ 15 จังหวัด ทำเพียงจังหวัดละอำเภอ หากประสบความสำเร็จเชื่อว่าทั้งประเทศจะสามารถทำได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ธรรมนิตย์ กล่าวอีกว่า การตรวจเต้านมด้วยตนเองต้องสร้างความรู้ให้ประชาชนด้วยว่า มะเร็งเต้านมเป็นอย่างไร เพราะ 90% ของมะเร็งเต้านมมักเป็นก้อนที่ไม่เจ็บ ซึ่งประชาชนทั่วไปมักเข้าใจว่าไม่เจ็บคือไม่อันตราย แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ทั้งนี้ มะเร็งเต้านมที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นระยะที่ 3 คือมีขนาด 3 เซนติเมตร การรณรงค์ในครั้งนี้จึงต้องการลดระยะมะเร็งจากระยะที่ 3-4 เหลือเพียงระยะที่ 1 ซึ่งจะช่วยให้ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

ด้าน นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สมัยที่ตนเป็นอธิบดีกรมอนามัยได้ให้ความรู้หญิงไทยเรื่องการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง แต่เมื่อสรุปผลการดำเนินงานแล้วพบว่า หญิงไทยมีการตรวจเต้านมอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ดังนั้น โครงการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่า จึงให้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้มาช่วยตรวจดูว่า ประชาชนมีการตรวจเต้านมด้วยตัวเองที่ถูกต้องและสม่ำเสมอหรือไม่ โดยอาศัยอาสาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาช่วยตรงนี้ เพราะหากตรวจไม่พบเป็นประจำอาจทำให้ไม่มีการตรวจอย่างต่อเนื่อง เพราะคิดว่าตรวจอย่างไรก็ไม่เจอ

การให้ อสม.มาช่วยทำให้มีการบันทึกว่า มีการตรวจเต้านมด้วยตนเองในเดือนอะไร เจอหรือไม่ โดยมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ช่วยรับรองผลการตรวจ ซึ่งจากการทดลองทำในปีที่แล้วพบว่าได้ผลดี ประชาชนมีการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเมื่อทราบว่า สธ.เองก็สนใจเรื่องมะเร็งเต้านม จึงนำประสบการณ์ในการดำเนินการมาหารือกับ สธ.ซึ่งรัฐมนตรี สธ.ก็พูดถึงนายกฯว่าจะให้กองทุนพัฒนาสตรีเข้ามามีบทบาทด้วยมากขึ้น และมอบให้สำนักปลัดฯ ประสานกับกรมที่เกี่ยวข้องมาช่วยกระจายให้ความรู้ให้ประชาชน เป็นการถวายงานเพื่อเป็นพระราชกุศลสมเด็จย่า” นพ.วัลลภ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น