“ชินภัทร” เผยข้อมูลคัดกรอง นร.และกรมสุขภาพจิต ชี้เด็กกลุ่มพิเศษมีเพิ่มขึ้นถึง 20% ยอมรับการยกระดับคุณภาพผู้เรียนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้องเริ่มคัดกรองแต่ต้นโดยจะนำระบบดูแลช่วยเหลือ นร.มาใช้ ตั้งเป้าปี 56 ยกเครื่องระบบ ให้เข้มข้นขึ้น
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการตรวจราชการ จากผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ สพฐ.ได้หยิบยกมาหารือในที่ประชุม คือ ประเด็นการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเข้มแข็งและมีกลไกที่จะช่วยดูแล คัดกรอง และส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีข้อมูลผลการคัดกรองนักเรียนและข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า ขณะนี้ภาพรวมของเด็กที่อยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ต้องการได้รับการดูแลพิเศษ หรือเด็กกลุ่มพิเศษ ซึ่งอยู่ในขอบข่ายที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ.ทำหน้าที่ดูแลอยู่นั้น มีจำนวนถึง 20% แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หรือ แอลดี ประมาณ 10-15% 2.กลุ่มเด็กสมาธิสั้น มีประมาณ 8% 3.กลุ่มเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ ประมาณ 5% 4.กลุ่มเด็กออทิสติก พบ 1 ใน 88 คน คิดเป็น 1.13% และ 5.กลุ่มที่มีความพิการทางกายภาพ ได้แก่ หูหนวก ตาบอด ร่างกายพิการ และยังบกพร่องทางสติปัญญา ประมาณ 2%
“ เด็กทั้ง 5 กลุ่มเหล่านี้อาจจะมีความบกพร่องทับซ้อนกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วมีจำนวนประมาณ 20% ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ให้ สพฐ.ทราบว่าการดำเนินการเพื่อสร้างและพัฒนาระบบดูแลและช่วยเหลือนักเรียนนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพบว่าปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยไม่ได้ดูที่ต้นเหตุของปัญหาจะทำให้แก้ไขได้ยาก เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มค้นหาต้นเหตุหรือสาเหตุของปัญหาแกละแก้ไขตั้งแต่ระยะต้น นั่นคือ ต้องคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาและพัฒนาช่วยเหลือซึ่งทำให้การดูแลมีประสิทธิภาพมากกว่าตามแก้ปัญหาภายหลัง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะว่าควรจะต้องทำระบบคัดกรองเด็กและการส่งต่อเด็กที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษา โดยเสนอว่าควรจะมีคณะกรรมการช่วยเหลือนักเรียนของสถานศึกษา 1 ชุดและมีเจ้าหน้าที่จากภายนอกคอยให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ จะต้องสร้างกลไกช่วยเหลือดูแลนักเรียนในลักษณะองค์รวม เช่น กรณีเกิดเหตุการณ์กระทำรุนแรงต่อเด็ก โรงเรียนจะมีหน้าที่ดูแลเบื้องต้น มีเขตพื้นที่การศึกษาคอยให้การสนับสนุน และ สพฐ.เป็นหน่วยงานประสาน ทั้งนี้ เบื้องต้น สพฐ.จะขยายผลโดยใช้หน่วยเฉพาะกิจดูแลช่วยเหลือนักเรียน (ฉกชน.) ของ สพฐ.และ ฉกชน.ประจำเขตพื้นที่การศึกษาฯ ก่อน และในอนาคตที่หากโรงเรียนมีคณะกรรมการช่วยเหลือนักเรียนประจำโรงเรียนแล้วทั้งหมดจะทำงานช่วยเหลือกัน พร้อมกันนี้ ต้องทำหลักสูตร คู่มือสำหรับครูที่เป็นองค์ความรู้ในเรื่องการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ครอบคลุมการควบคุมพฤติกรรมของนักเรียน เช่น เรื่องการลงโทษอะไรที่ทำได้ อะไรทำไม่ได้ เป็น เพราะฉะนั้น ในปีการศึกษา 2556 การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจะเป็นจุดเน้นสำคัญที่ สพฐ.ต้องดำเนินการยกระดับให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
นายพะโยม ชินวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. กล่าวว่า ในกลุ่มเด็กพิเศษเหล่านี้ ก็มีปัญหาที่พบคล้ายกับเด็กทั่วไป เช่น ออกกลางคัน มีปัญหาการอ่าน เป็นต้นซึ่งต้องการดูแลช่วยเหลือพิเศษ โดยใน 5 กลุ่มก็จะมีปัญหาแตก ต่างกันไปจะต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนก็จะเป็นระบบหนึ่งที่จะนำมาใช้ ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาทางสำนักงานบริหารฯ ได้เปิดศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษทางการศึกษา นำร่องในสถานศึกษาทั่วไป 445 แห่งทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา โดยเป็นในลักษณะคล้ายคลินิกให้คำปรึกษาแก่นักเรียนกลุ่มพิเศษเหล่านี้ในการเรียน ซึ่งหากผลการดำเนินการดีจะเสนอขยายผลทั่วไป