ดีเอสไอตรวจโกดังเก็บยาพาราฯ อภ. พบอยู่ครบ 100 ตัน และการจัดเก็บได้มาตรฐาน เล็งสอบประเด็นจัดซื้อจัดจ้างเอื้อเอกชนเพิ่มเติม ด้าน “หมอวิทิต” เบี้ยวเข้าให้ปากคำอ้างป่วย ขณะที่ รมว.สธ.ส่งเอกสารโรงงานผลิตวัคซีนและยาพาราฯเพิ่มให้ดีเอสไอ เตรียมคุย อภ.ตั้งคณะที่ปรึกษาเดินหน้าสร้างโรงงาน
วันนี้ (22 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายระวัย ภู่ผกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้นำกลุ่มเจ้าหน้าที่และพนักงาน อภ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวนกว่า 100 คน มารวมตัวประท้วงกรณีที่ดีเอสไอรับสอบสวน อภ.เกี่ยวกับการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลปนเปื้อน และโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ล่าช้า พร้อมถือป้ายผ้าเขียนข้อความว่า “ขอให้ดีเอสไอสอบด้วยความเป็นธรรม ปราศจากการชี้นำโดยนักการเมือง”
นายระวัย กล่าวว่า การให้ข่าวของดีเอสไอต่อสื่อมวลชน ทำให้ อภ.เสียหาย เพราะมีการชี้มูลความผิดของ อภ.ทั้งที่การสอบสวนข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จสมบูรณ์พอที่จะสามารถสรุปได้ว่ามีมูลความผิดจริง และเป็นการให้ข่าวด้วยถ้อยคำที่อ้างว่ามีข้อสงสัย ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นกลางและผิดจรรยาบรรณของผู้มีอำนาจหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริง
ต่อมาเวลา 10.00 น.วันเดียวกัน ที่โกดังเก็บสินค้าบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดีเอสไอ ได้เข้าตรวจสอบสถานที่เก็บวัตถุดิบการผลิตยาพาราเซตามอลของ อภ.ที่มีข้อสงสัยวัตถุดิบผลิตมีการปนเปื้อน โดยมีเจ้าหน้าที่ของ สธ.และบริษัทไปรษณีย์ไทย เข้าร่วมตรวจสอบด้วย
นายธานินทร์ กล่าวว่า การตรวจสอบครั้งนี้จะตรวจสอบใน 2 ประเด็น คือ จำนวนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาพาราฯ ครบตามจำนวนหรือไม่ และลักษณะการจัดเก็บได้มาตรฐานเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีวัตถุดิบครบคือ 2,000 ถัง ปริมาณ 100 ตัน แม้ก่อนหน้านี้จะมีการส่งไปตรวจสอบการปนเปื้อนแต่ก็ได้ส่งกลับคืนมาเก็บไว้ทั้งหมด โดยวัตถุดิบที่เก็บไว้ในโกดังดังกล่าวเป็นวัตถุดิบที่ผลิตมาเมื่อปี 2011 และ 2012 ซึ่งยังไม่หมดอายุ แต่จะหมดอายุในปี 2014 และ 2015 ส่วนสถานที่จัดเก็บพบว่าเป็นไปตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอจะทำหนังสือประสานไปยังบริษัทไปรษณีย์ไทย เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับจำนวนและวิธีการจัดเก็บเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป จากนั้นพนักงานสอบสวนจะตัดประเด็นเรื่องจำนวนวัตถุดิบและสภาพการจัดเก็บเหมาะสมหรือไม่
นายธานินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนของประเด็นการจัดซื้อจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป โดยก่อนหน้านี้ดีเอสไอ ได้ทำหนังสือประสานไปยังโรงงานเภสัชกรรมทหาร กระทรวงกลาโหม และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสอบถามเรื่องของผลตรวจสารปนเปื้อนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาพาราฯ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ อภ.ได้ส่งตัวยาไปขอขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ คาดว่าส่งผลการตรวจสอบมาภายในสัปดาห์นี้
“การสอบสวนองค์การเภสัชฯ มีประเด็นที่ดีเอสไอจะต้องสอบสวนคือ เรื่องกระบวนการจัดซื้อและจัดจ้างเอื้อประโยชน์แก่ใครหรือเอกชนรายใดหรือไม่ แต่ขณะนี้ตัดประเด็นจัดซื้อครบจำนวนตามที่แจ้งและจัดเก็บตามมาตรฐานหรือไม่ โดยในช่วงบ่ายวันนี้ ดีเอสไอเชิญ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ในเรื่องของยาพาราฯปนเปื้อน และข้อสงสัยการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง” นายธานินทร์ กล่าว
จากนั้นเมื่อเวลา 11.30 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข นายธานินทร์ ได้เดินทางเข้าพบ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อรับเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนและวัตถุดิบยาพาราฯ ของ อภ.โดย นพ.ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือ ว่า การมารับเอกสารเพิ่มเติม สืบเนื่องจากที่ตนเคยแจ้งไปว่าเคยสอบถามไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของโรงงานวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับคำตอบผ่านทางอีเมล์ จึงมีการนัดหารือกับเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค ตัวแทนของ WHO มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยจัดทำเป็นเอกสารสรุปแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ได้รายละเอียดครบถ้วนและส่งมอบให้กับดีเอสไอในวันนี้ (22 เม.ย.) ส่วนเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุดิบยาพาราฯ เป็นการนำส่งรายการเพิ่มเติมจาก อย.เกี่ยวกับล็อตการนำเข้า โดยขณะนี้ได้ส่งมอบเอกสารทั้งหมดให้ดีเอสไอแล้ว คาดว่าดีเอสไอจะนำไปพิจารณาและจะสรุปเป็นเรื่องๆ ว่า ประเด็นที่สงสัยสมเหตุผลหรือไม่ หากทุกอย่างสมเหตุผลก็จบไป คาดว่าจะชัดเจนในสัปดาห์หน้า
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการเดินหน้าโรงงานวัคซีนฯ ขณะนี้เตรียมหารือกับ อภ.ในการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา โดยจะเชิญผู้ที่มีความรู้ด้านวัคซีน ทั้งด้านวิชาการทางการแพทย์และการผลิต คาดว่าจะตั้งภายในสัปดาห์นี้ แต่ช่วงนี้ขอเวลาหาลิสต์รายชื่อ และขอความกรุณาท่านเหล่านี้อีกที แต่ขออนุญาตยังไม่เปิดเผยรายชื่อ ขอทาบทามก่อน เบื้องต้นคาดว่าจะมีประมาณ 5-6 คน โดยจะมาจากหลายฝ่ายที่มีความรู้ความสามารถ
“คณะกรรมการชุดนี้จะสรุปทางวิชาการว่า การก่อสร้าง การวางแผนการทำโรงงานวัคซีนจะเป็นอย่างไร จะเป็นเชื้อเป็นเชื้อตาย จะผลิตปริมาณเท่าใด มีความเป็นไปได้ทางการค้าอย่างไร และในเชิงการบริหารจัดการจะทำยังไงให้จบ เพราะขณะนี้เรื่องยังไม่จบ เนื่องจากยังมีการตัดสินใจว่าจะเพิ่มเงินเพื่อให้สร้างเสร็จ ก็ยังไม่แน่ใจว่าถ้าเพิ่มเงินแล้วจะเสร็จจริง ก็ต้องนำมาพิจารณาใหม่” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความคืบหน้ากรณี WHO สนับสนุนทุนวิจัยให้ อภ.พัฒนาวัคซีนเป็นอย่างไร นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นการวิจัยเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 ที่ทำการวิจัยในปี 2009 และได้รับการจดทะเบียนให้ใช้ได้ในปี 2011 ส่วนเชื้อ H1N1 ยังทดลองไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจริงๆ เชื้อทั้งสองตัวนี้ไม่ได้มีนัยยะอะไร เพราะไม่มีการระบาด แม้จะจบการทดลองก็ไม่มีการผลิต แต่ตัวแทน WHO ย้ำว่าการทำวัคซีนทุกอย่างต้องมีการทดลองวิจัยในคลินิก โดยต้องมีความแตกต่าง 2 อย่าง คือ ถ้าเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ต้องวิจัยครบ 3 ขั้นตอน คือ ระยะ 1-3 อาจต้องใช้เวลาพอสมควร 4-5 ปี แต่กรณีระบาดเวลาจะสั้นลง อาจเหลือเพียง 2 ระยะ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งหากมีประสบการณ์ก็อาจวิจัยเพียงปีกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.วิทิต ไม่ได้เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม โดยระบุว่าป่วยกะทันหัน ซึ่งขณะนี้ได้พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และไม่สามารถมาเข้าให้ปากคำในวันนี้ได้ โดยได้ส่งทนายมายื่นหนังสือเพื่อขอเลื่อนการให้ปากคำ ส่วนจะเข้าให้ปากคำได้เมื่อไรจะมีการประสานงานอีกครั้ง