เอเจนซี—กลุ่มสื่อจีนรายงานสถานการณ์ล่าสุดวันนี้(5 เม.ย.) ยอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อไข้หวัดนกรุ่นกลายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งสิ้น 6 ราย เผยกรณีผู้ติดเชื้อหวัดนกพันธุ์ใหม่ในจีน 14 ราย ส่วนใหญ่เกิดในแหล่งท่องเที่ยว และผู้เสียชีวิต 4 ราย อยู่ในย่านใจกลางพาณิชย์ ด้านนครเซี่ยงไฮ้เริ่มสังหารสัตว์ปีกในโซนค้าสัตว์ปีกมีชีวิตกว่า 20,000 ตัวในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร
สำนักข่าวซินหวาระบุว่า มีผู้ติดเชื้อ H7N9 ในประเทศจีน มีทั้งสิ้น 14 ราย ทั้งหมดอาศัยอยู่ในภาคตะวันออก การติดเชื้อฯส่วนใหญ่อุบัติในเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ 6 ราย เสียชีวิต 4 ราย, มณฑลเจียงซู 4 ราย(เป็นชาวหนันจิง 2 ราย ซูโจวและอู๋ซีแห่งละ 1 ราย ทั้งหมดอาการหนัก, มณฑลเจ้อเจียง 3 ราย (เป็นชาวหังโจว 2 ราย) เสียชีวิต 2 ราย, มณฑลอันฮุย 1 ราย
ผู้ป่วยจากเชื้อหวัดนกกลายพันธุ์รายล่าสุดได้เสียชีวิตเมื่อคืนวานนี้(4 เม.ย.) เป็นชายแซ่ จาง วัย 64 ปี ชาวเมืองหูโจว มณฑลเจ้อเจียง สำนักข่าวซินหวาอ้างหน่วยสาธารณสุขนครเซี่ยงไฮ้แถลงในวันนี้(5 เม.ย.) ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจาก H7N9 ในแผ่นดินใหญ่ รวมเป็น 6 ราย
นอกจากนี้ มีรายงานเมื่อเช้านี้ว่า ผู้ใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิตจากเชื้อหวัดนกกลายพันธุ์คนหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ เกิดอาการไข้ขึ้นสูง น้ำมูกไหล ฯลฯ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้แยกกักตัว และให้การรักษา
ขณะนี้ รัฐบาลจีนกำลังระดมทรัยากรทั่วประเทศ เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ ขณะเดียวกันทางญี่ปุ่นและฮ่องกงก็ตื่นตัวระดมมาตรการป้องกันเชื้อโรคหวัดมรณะ ด้านเวียดนามประกาศห้ามการนำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศจีน
นอกจากนี้ กลุ่มสื่อจีนรายงานว่า หน่วยรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน สังกัดสำนักงานเกษตรประจำนครเซี่ยงไฮ้แจ้งว่า ในคืนวานนี้(4 เม.ย.) เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินมาตรการป้องกันเชื้อไข้หวัดนกรุ่นกลายพันธุ์ใหม่ โดยได้เริ่มสังหารไก่ทั้งหมดในโซนค้าสัตว์ปีกมีชีวิตในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรฮู่ไหวในเขตซงเจียงของเซี่ยงไฮ้
สัตว์ปีกกว่า 20,000 ตัวที่ถูกสังหาร ถูกบรรจุในถุงพิเศษ ปิดมิดชิด เจ้าหน้าที่ได้ทำการพ่นสารเคมีฆ่าเชื้อโรคทั่วตลาดฯ จากนั้นได้ปิดโซนค้าสัตว์ปีก ในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้สุ่มตรวจเนื้อสัตว์ปีก ไม่พบเชื้อ H7N9 แล้ว
สื่อจีนรายงานอีกว่า ในวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้สุ่มตรวจนกพิราบที่ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรฮู่ไหวในเซี่ยงไฮ้ ต่อมา สำนักข่าวซินหวารายงานอ้างแหล่งข่าวกระทรวงเกษตรจีน เผยว่าเจ้าหน้าที่ได้พบเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์ใหม่ในนกพิราบที่สุ่มตัวอย่างมาตรวจ ทำให้มีการสั่งการปิดตลาด
จากการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรม (gene sequence) ก็พบว่า “เชื้อไวรัสจากนกพิราบ มีความคล้ายกันอย่างมาก (highly congenetic) กับเชื้อที่พบในกลุ่มผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกรุ่น H7N9”
เจ้าหน้าที่จีนกำลังพยายามระบุสายพันธุ์ที่แน่นอนชัดเจนของเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์ใหม่ที่กำลังจู่โจมประชาชนอยู่ แต่ก็ได้กล่าวว่ายังไม่หลักฐานบ่งชี้ถึงการติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation-WHO) แถลงในวันพุธ(3 เม.ย.) ตัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดใหญ่ เนื่องจากเชื่อว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ไม่ติดต่อระหว่างคนกับคน ซึ่งแตกต่างไปจากเชื้อ H5N1 ที่แพร่หลายมากกว่า ทั้งนี้ ข้อมูลฮู ระบุจากปี 2546 ถึงวันที่ 12 มี.ค.ปีนี้(2556) เชื่อ H5N1 ได้สังหารคนในเขตต่างๆทั่วโลก 360 คน
สำนักข่าวซินหวารายงาน ผู้ป่วยชายที่ติดเชื้อไข้หวัดหมู H1N1 ในมณฑลหูหนัน ทางภาคกลางของจีน ได้เสียชีวิตเมื่อวันพุธ(3 มี.ค.) จากข้อมูลฮูประมาณว่า ระหว่างการระบาดไข้หวัดหมู ปี 2552-2553 มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 18,000 คน
กวางตุ้งกำชับขยายการเตือนภัยคุกคามจากเชื้อโรคหวัด
ที่มณฑลกว่าวตง หรือกวางตุ้ง ด้วยขณะนี้เป็นฤดูกาลที่เชื้อโรคหวัดระบาดหนัก และการระบาดของ H7N9 ก็มีความเป็นไปได้ รองผู้ว่ามณฑลฯ นาย หลิน เซ่าชุน จึงได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อบ่ายวันพฤหัสฯ(4 เม.ย.) ทั้งสาธารณสุข หน่วยควบคุมเชื้อโรคฯ เพื่อติดตามงานควบคุมการแพร่เชื้อไข้หวัดนก H7N9 พร้อมกำชับมาตรการป้องกัน ขยายการเตือนภัยคุกคามจากเชื้อโรคหวัด พร้อมแต่งตั้งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินหายใจ นายจง หนันซาน เป็นหัวหน้าทีมการควบคุมและป้องกันฯ
ผู้เชี่ยวชาญจีนชี้ H7N9 ไม่มียีนมนุษย์ การติดเชื้อระหว่างคนต่ำมาก
หยวน กั๋วหย่ง(袁国勇) อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ผู้เชี่ยวชาญเชื้อไข้หวัด SARS และเคยเข้าร่วมการวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดนก H5N1 เปิดเผยหลังจากที่ได้วิเคราะห์เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ H7N9 ว่าเชื้อ H7N9 เกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ยีนของเชื้อโรค มี 8 ตัว ในจำนวนนี้ H7 มาจากนกป่าในมณฑลเจ้อเจียง N9 มาจากนกป่าในเกาหลีใต้ ส่วนยีนอีก 6 ตัว เชื่อว่ามาจากบริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียงในส่วนตอนเหนือขึ้นไป
ณ ขณะนี้ ยังไม่พบยีนของมนุษย์ หรือยีนของหมูในกลุ่มยีนของเชื้อไวรัสพันธุ์ใหม่นี้ ดังนั้น ความเสี่ยงในการติดต่อเชื้อโรคระหว่างคนกับคนด้วยกัน จึงมีอัตราต่ำมากๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มยีนเหล่านี้อาจมีการกลายพันธุ์อีกครั้ง และสามารถที่จะเปิดการติดต่อเชื้อระหว่างคนกับคนด้วยกัน.