xs
xsm
sm
md
lg

อลังการ “โขน” นารายณ์สิบปาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...สุกัญญา แสงงาม

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมและการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม มาอย่างต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรี จึงกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย”

สหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เล่าให้ฟังว่า วันอนุรักษ์มรดกไทย แต่ละปี วธ.จะกำหนดตรีมงานเด่นๆ เพียงหนึ่งอย่าง ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมา หัวข้อ “งานช่างหลวง :สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับงานประณีตศิลป์” สำหรับปี 2556 นี้ จัดกิจกรรมภายใต้หัวข้อ “โขน : อัจฉริยนาฏกรรมสยาม” เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 8 เมษายน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีคุณูปการต่อศิลปะการแสดงโขน

ปกรณ์ พรพิสุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กล่าวเสริมว่า การแสดง “โขน” ครั้งนี้พิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา คือจัดแสดงโขน ชุด “นารายณ์สิบปาง” โดยแสดงให้ชมอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งแรก ได้แก่ ปางมัสยาวตาร ปางทวิชาวตาร ปางกูรมาวตาร ปางนรสิงหาวตาร ปางมหิงสาวตาร ปางสมณาวตาร ปางวราหะวตาร ปางมหัลลกอสีวตาร ปางอัปสราวตาร และปางรามาวตาร โดยจัดแสดงวันละ 2 ปาง ส่วนวันสุดท้ายจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามรบทศกัณฐ์ นับว่าเป็นไฮไลต์ของการแสดงโขนที่ผู้ชมไม่ควรพลาด เพราะจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่อลังการมีนักแสดงกว่า 100 ชีวิต ที่สำคัญเปิดให้ชมฟรีตลอดงาน

“ที่ผ่านมาได้มีการจัดแสดงโขนเป็นระยะๆ แต่ยังไม่เคยจัดแสดงคราวเดียวกันทั้ง 10 ปาง ส่วนเครื่องแต่งกาย คำพากย์ คำเจรจา เรายังอนุรักษ์ความดั้งเดิมที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษสู่รุ่นปัจจุบัน เพียงแต่การแสดงโขนกระชับฉับไวมากขึ้น”

ปกรณ์ ยังบอกด้วยว่า เพื่อปูพื้นความรู้ให้คนรุ่นใหม่ เข้าถึง เข้าใจ ซึมซับการแสดงโขนมากยิ่งขึ้น เราได้จัดนิทรรศการเรื่องราวประวัติและที่มาของโขน วิวัฒนาการของโขนตามยุคสมัย การจัดแสดงเครื่องแต่งกายโขนที่มีการปรับปรุงให้มีความงดงามยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้จัดเสวนาให้ความรู้เรื่องโขน เช่น โขนมาจากไหน เรื่องบทบาทของพระนารายณ์ในการแสดงนารายณ์สิบปาง เรื่องคำพากย์ คำเจรจาโขน เรื่องนฤตตมูรติ จาก 108 ท่ารำของพระศิวะมหาเทวะมาสู่โขนและนาฏศิลป์ไทย

“จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์คนรุ่นใหม่ บอกว่า โขนดูยาก ดูแล้วไม่เข้าใจ ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ สนใจชมโขนน้อยลง อันที่จริง โขนดูไม่ยาก เริ่มจากสังเกตสีเสื้อ เครื่องแต่งกายของผู้แสดง สามารถแยกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง พร้อมกันนี้ผู้ชมสามารถเดาได้ว่า ตัวแสดงชื่ออะไร” ปกรณ์ เล่าที่มาของการจัดแสดงโขน ควบคู่นิทรรศการ เสวนา เกี่ยวกับโขน เพื่อปูพื้นความรู้ให้คนรุ่นใหม่และผู้สนใจ เข้าถึง “โขน”

นอกจากการแสดง “โขน : อัจฉริยนาฏกรรมสยาม” แล้ว ภายในงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย กิจกรรมการสาธิตและจำหน่ายงานช่างของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย การจำหน่ายหนังสือทรงคุณค่า การเสวนา การจัดนิทรรศการ เรื่อง “พระพุทธรูปคืนถิ่นแผ่นดินสยาม” และ “มรดกล้ำค่าสมเด็จพระปิยมหาราชในมิวเซียมหลวง”


กำลังโหลดความคิดเห็น