xs
xsm
sm
md
lg

พบพิรุธ! ขรก.เปลี่ยนวิธีเบิกจ่ายยาจากตรงเป็นสำรองจ่ายมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบพิรุธ! ข้าราชการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยาด้วยวิธีเบิกตรงลดลง แต่สำรองจ่ายเองเบิกทีหลังกลับเพิ่มขึ้น หวั่นมีช่องโหว่เลี่ยงการตรวจสอบ ด้าน อภ.หายาราคาถูกประหยัดงบได้ถึง 3,000 ล้านบาท “หมอประดิษฐ” มอบ อย.ศึกษากฎหมายแก้ล็อกบริษัทยาจดสิทธิบัตรแบบหัวหมอ

วันนี้ (2 เม.ย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ว่า ที่ประชุมมีการนำเสนอและเห็นด้วยใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.การดำเนินการจัดทำรหัสกลางยาเพื่อให้ 3 กองทุนประกันสุขภาพทั้งประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสวัสดิการข้าราชการนำไปใช้ในการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านยาว่าถูกต้องหรือไม่ 2.ผลการประเมินค่าใช้จ่ายตามสิทธิสวัสดิการข้าราชการพบว่า คงที่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนผู้ใช้สิทธิโดยการเบิกจ่ายตรงลดลง แต่พบการดำเนินการจ่ายนอกระบบคือ สำรองจ่ายด้วยตนเองก่อนแล้วเบิกในภายหลังเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะการเบิกจ่ายตรงมีระบบการตรวจสอบเข้มข้นกว่าการสำรองจ่ายด้วยตนเองที่สามารถดำเนินการเบิกกับหน่วยงานต้นสังกัด หรืออาจเป็นนัยยะอื่นก็ต้องพิจารณาต่อไป แต่เบื้องต้นเห็นว่าตามหลักแล้วควรมีการใช้ระบบเบิกจ่ายตรงมากกว่าเพราะไม่จำเป็นต้องออกเงินก่อน จึงเน้นให้มีการสุ่มตรวจสอบมากขึ้นกว่าเดิม หากพบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดก็จะรู้ว่าเป็นช่องโหว่ของระบบที่เกิดขึ้น
แฟ้มภาพ
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า 3.ข้อเสนอขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้จัดหายามาทดแทนยาที่มีราคาแพง ซึ่งมีทั้งยากลุ่มที่ผูกขาดอยู่ในประเทศไทย โดยมีผู้ผลิตรายเดียว มี 2 กรณี คือ สิทธิบัตรยังไม่หมด และหมดสิทธิบัตรแล้ว แต่ยามีการผลิตหลายคน พบว่าหากมีการนำยาเข้ามาโดย อภ.และนำไปซื้อ เฉพาะในยาที่มีการเสนอมาประมาณ 10 ตัว น่าจะประหยัดเงินได้ราว 3,000 ล้านบาท ในส่วนของการนำไปสู่การปฏิบัติ ได้มีขออนุมัติที่ประชุมว่าราคาที่ อภ.ดำเนินการจัดหาได้ซึ่งถูกกว่าราคาท้องตลาดอย่างน้อย 40% เป็นราคาอ้างอิงกับกรมบัญชีกลางและขอมติ ครม.ผ่านกรมบัญชี กระทรวงการคลังว่าให้สิทธิพิเศษกับ อภ.ให้หน่วยงานของรัฐสามารถซื้อยาได้ในราคานี้จาก อภ.โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะทำให้ อภ.ดำเนินการต่อรองราคายาแล้วนำไปสู่การจัดซื้อได้จริง โดยจะให้สิทธิพิเศษนี้ในเวลาจำกัด คือ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพราะเชื่อว่าเมื่อมีการดำเนินการแล้วจะทำให้ผู้ผลิตในไทยมีการปรับตัวหรือลดราคาลง

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า และ 4.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในการจดสิทธิบัตรยา เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทยาบางแห่ง เริ่มต้นการจดสิทธิบัตรยาแบบครอบคลุมทั้งหมด แต่เมื่อใกล้หมดสิทธิบัตรกลับนำยาตัวเดิมไปดำเนินการจดสิทธิบัตรใหม่ในรูปแบบจำเพาะเจาะจง เช่น.... ทำให้ยาตัวนั้นมีการยืดอายุของสิทธิบัตรออกไป ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมกับผู้บริโภคจึงให้มีการศึกษาดังกล่าวเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น