วุฒิฯจับมือ “มท.-สสส.-มูลนิธิเมาไม่ขับ” กระตุ้นสำนึก “หยุดความตายบนท้องถนน” ป้องกันภัยตายเทศกาลสงกรานต์ ด้าน “ประธานวุฒิฯ” ชี้ 3 ปัจจัยหลักทำคนตายท้องถนน ด้าน “ประชา” แจกกฎ 6 ข้อหยุดอุบัติเหตุ ต้องใช้กฎหมายจัดการเฉียบขาด
วันนี้ (28 มี.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการปกครอง วุฒิสภา ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิเมาไม่ขับจัดสัมมนาเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาอุบัติภัย ภายใต้หัวข้อ “หยุดความตายบนท้องถนน” โดยมี นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน พร้อมด้วย นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ตัวแทนหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากทั่วประเทศ ภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมสัมมนา
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ในฐานะรองประธาน กมธ.การปกครอง วุฒิสภา กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุบนท้องถนนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล อาทิ ปีใหม่ สงกรานต์ มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ทั้งที่มีการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุจากทุกภาคส่วนมาโดยตลอด ซึ่งการจัดสัมมาครั้งนี้ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุและลดความตายบนท้องถนนให้มีประสิทธิภาพ
ด้านนายนิคม กล่าวว่า การรณรงค์ลดอุบัติเหตุนั้นทำกันทุกปี ตัวเลขการสูญเสียจากอุบัติเหตุในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 350 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่คงที่ แต่ไม่สามารถลดต่ำลงกว่านี้อีกได้เลย ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.ลักษณะทางกายภาพของถนนหนทาง มาตรฐานการก่อสร้าง ความชัดเจนของป้ายจราจร 2.พฤติกรรมของผู้ขับขี่ 3.การบังคับใช้กฎหมายจราจรที่เข้มงวด สำหรับในปีนี้ อยากเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบรรลุเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุและความสูญเสียบนท้องถนน พร้อมทั้งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชนคนไทยให้ได้
นายประชา กล่าวว่า การหยุดความตายนั้นไม่สามารถทำได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการตายก่อนเวลาอันควรจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ซึ่งข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกการรายงานสถิติการเสียชีวิตระบุว่า อันดับ 8 ของการเสียชีวิตประชากรโลกเกิดจากอุบัติเหตุ และคาดว่าในปี 2030 จะขยับขึ้นเป็นอันดับ 5 ทั้งนี้ องค์กรสหประชาชาติได้ออกปฏิญญามอสโกขึ้นมา กำหนดให้ประเทศสมาชิกลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้ร้อยละ 50 ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งทางรัฐบาลได้ตอบรับและนำมาเป็นกรอบการทำงานมาตั้งแต่ปี 2553 และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดเป็นนโยบาย และเป้าหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่ร่วมกันรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศให้มากที่สุด
สำหรับมาตรการที่ทุหน่วยงานควรดำเนินการเพื่อลดอุบัติเหตุและความสูญเสีย คือ 1.หน่วยงานภาคีเครือข่าย รัฐ เอกชน ประชาสังคม เข้าร่วมในการให้ความรู้ และแนวทางในการลดอุบัติเหตุและการสูญเสีย 2.ขับเคลื่อนนโยบายลงสู่หน่วยงานที่รับผิดชอบ 3.เพิ่มการรณรงค์ให้มากขึ้น 4.มีการพัฒนายานพาหนะในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล 5.พัฒนาระบบฐานข้อมูลให้มีมาตรฐานสากล ชัดเจน ถูกต้อง และ 6.มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด
ทั้งนี้ ในงานสัมมนามีการเสวนา เรื่อง หยุดความตายบนท้องถนนได้อย่างไร ซึ่งมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวัฒนา ภัทรชนม์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก นพ.ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ผอ.สำนักสาธารณะสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข และ นายกฤษณะ ละไล นักสื่อสารมวลชน ร่วมเป็นวิทยากร และการถอดบทเรียน หยุดความตายบนท้องถนนได้อย่างไร จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแชร์ความรู้และและประสบการณ์การทำงานเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย