xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ครบ 96 ปีจัดเสวนาเล่าประวัติศาสตร์ ยันไม่เอี่ยวอุเทนฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ ครบรอบ 96 ปี เปิดเสวนาเล่าประวัติศาสตร์ “หมอภิรมย์” ยันไม่เกี่ยวกับอุเทนถวาย แค่ต้องการเสนอภาพรวมประวัติศาสตร์ เกียรติภูมิของจุฬาฯ ที่เป็นจริงเท่านั้น ระบุพิจารณาเอกสารที่ นศ.อุเทนถวาย ยื่นแล้ว ชี้มีแต่เรื่องเดิมๆ ฝาก ศธ.เข้ามาช่วยประสาน ด้าน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เล่าความเป็นมาพร้อมอ้างหลักฐาน ร.6 พระราชทานที่ดินให้จุฬาฯ

วันนี้ (26 มี.ค.) ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา วันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 96 ปี เรื่อง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใต้ร่มพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่าการจัดเสวนาในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของวันสถาปนามหาวิทยาลัย ที่นำเสนอเรื่องราวความเป็นมา การจัดตั้งจุฬาฯว่ามีหลักการ แนวคิด ที่มาที่ไปอย่างไร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออกวิทยาเขตอุเทนถวาย ซึ่งการเสวนาได้มีการเชิญนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และบรมครูด้านประวัติศาสตร์ที่ได้ทำการวิเคราะห์ ศึกษา ประวัติความเป็นมาของจุฬาฯ อย่างจริงจังมานำเสนอประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ

การเสวนาตรงนี้ไม่ได้ไปแตะ หรือเป็นการโต้ตอบอุเทนถวาย เพราะไม่ได้มีส่วนไหนเกี่ยวข้องกันเลย เพียงแต่เป็นวันสถาปนาครบรอบ 96 ปีของมหาวิทยาลัยก็ควรจะมีการนำเสนอบอกเล่าเกียรติภูมิของจุฬาฯตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน จึงไม่อยากให้เอามาเกี่ยวโยงกัน และที่ผ่านมาผมบอกเสมอว่าเรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ใครก็ตามที่ไปตัดตอนในบางตอน หรือปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของตัวเอง ย่อมก่อให้เกิดอันตายขึ้นได้ การนำนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มาบอกเล่าภาครวมประวัติสาสตร์จริงๆ จะได้ไม่มีใครเข้าใจผิด” อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวและว่า สำหรับข้อเรียกร้องและหนังสือที่ทางนักศึกษาอุเทนถวายได้ยื่นมานั้น ขณะนี้ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้มีการพิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ ส่วนที่นักศึกษายังยืนยันว่าจะไม่ย้ายไปไหน ตนก็เข้าใจและเห็นใจ คงไม่ดำเนินการอะไร แต่อยากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาช่วยประสาน ช่วยเหลืออุเทนถวายในเรื่องการจัดสรรที่งบประมาณให้เหมาะสม

ด้าน รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธนานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ได้พระราชทานพื้นที่ในเขตตำบลปทุมวันให้แก่จุฬาฯ โดยมีพระราชประสงค์ให้สถานศึกษาแห่งนี้ เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ยังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทย ไม่มีเวลาเสื่อมสูญ หลักฐานได้ปรากฎใน จารึกกระแสพระบรมราชโองการ ที่บรรจุไว้ในศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ พร้อมด้วยรูปถ่ายโรงเรียนและแผนที่อาณาเขตโรงเรียนวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 มีความตอนหนึ่งระบุว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดที่ดินพระคลังข้างไว้เป็นเขตโรงเรียน ทิศเหนือจดถนนสระปทุม ทิศใต้จดถนนหัวลำโพง ทิศตะวันออกจดถนนสนามม้า ทิศตะวันตกจดคลองสวนหลวง สิริรวมเป็นเนื้อที่ 1,309 ไร่ กล่าวว่า พระบรมราชโองการดังกล่าวมีผลเป็นกฎหมาย เพราะถูกตราขึ้นในยุคที่ประเทศไทยหรือสยามประเทศขณะนั้นยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เช่าที่ดินแปลงนี้ในราคาถูกแบบพอเป็นพิธี

ต่อมาในสมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ปราโมช ได้อรรถาธิบาย ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงไว้ซึ่งพระปรีชาญาณ และเห็นการณ์ไกลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการพัฒนาบ้านเมืองในอนาคต พระประสงค์ในการพระราชทานที่ดินอันกว้างขวางแก่จุฬาฯนั้นจะต้องเพราะทรงเล็งเห็นว่าต่อไปที่ดินนั้นจะเป็นที่มีความเจริญในการทางการค้า จึงพระราชทานไว้แก่มหาวิทยาลัยไว้เพื่อหาประโยชน์เป็นรายได้แก่มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ ตนจึงเห็นว่า การที่จุฬาฯใช้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานไว้ในการหารายได้ด้วยการสร้างศูนย์การค้าหรืออาคารพาณิชย์ ไม่ทิ้งไว้ให้อยู่เปล่านั้นเป็นการปฏิบัติตามพระราชดำริและตรงตามพระราชประสงค์อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น