xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายกะเหรี่ยงยื่นหนังสือ วธ.อ้อน ให้ช่วยชาติพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายกะเหรี่ยง ยื่นหนังสือ วธ.เร่งเรียกหาทางออกให้ทุกชาติพันธุ์ เผยมติ ครม.ปี 53 คลอดมา 3 ปี ยังไร้วี่แววเชิงปฏิบัติ

วันนี้ (22 มี.ค.) ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงประมาณ 10 คนได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทวงถามความคืบหน้าการดำเนินการตามหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษชาวกะเหรี่ยง โดยมี นายไชยนันท์ แสงทอง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือแทน

โดยนายพฤ โอโดเชา ประธานเครือข่ายกะเหรี่ยง กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือว่า หลังจากที่มติ ครม.ได้ออกมาเป็นเวลา 3 ปี โดยระบุประเด็นสำคัญในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.จัดการทรัพยากร 2.อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม 3.การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม 4.การศึกษา 5.สิทธิในสัญชาติ แล้วนั้น ในทางปฏิบัติ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าว รวมถึงคณะกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตฯ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วน อาทิ เรื่องปัญหาที่ดิน พื้นที่ทำกิน พื้นที่วัฒนธรรม เรื่องสัญชาติ และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเท่าเทียม

นายพฤ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ต้องการให้ช่วยเป็นอย่างแรก คือ การเร่งหาทางออกเรื่องการทำไร่หมุนเวียน โดยอนุญาตให้ชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงได้มีโอกาสทำไร่หมุนเวียนเช่นเดิม ตามหลักและวิธีการดั้งเดิม คือ เผาซากพืชในไร่ได้ปีละครั้ง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาติพันธุ์มาเนิ่นนาน และชาวบ้านที่ทำไร่หมุนเวียน ซึ่งมีกว่า 3,000 ชุมชน สามารถเลี้ยงชีพด้วยวิถีชีวิตดังกล่าวได้ดี กระทั่งมีงานวิจัยยืนยันจาก เรื่อง “รอยเท้านิเวศ ของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ” แล้วว่า ผู้ที่ปลูกข้าวโดยอาศัยหลักการดังกล่าวนั้น สามารถสร้างรายได้มากถึงปีละ 2 ล้านบาทต่อ 1 ชุมชน แต่ปัญหา คือ มติ ครม.มกราคม 2556 ระบุถึงมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่เปลี่ยนจาก “ควบคุมการเผา” เป็น “ไม่มีการเผา” กลับขัดแย้งต่อ มติ ครม.ปี 2553 อย่างยิ่ง แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อวิถีของชาวบ้านในพื้นที่สูงอย่างแน่นอน

“มติปี 2553 ผ่านมา 3 ปี เรื่องยังเงียบ งบประมาณฟื้นฟูวิถีชีวิต 10 ล้านบาทอนุมัติมาและมีผลต่อการดำเนินการในปี 2556 เรื่องก็เงียบเช่นเคย ไร้ร่องรอยงบประมาณมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว พวกเราเองก็ไม่รู้จะทวงถามจากหน่วยงานใด แต่ในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูฯ ก็อยากจะมาสอบถามความคืบหน้า” นายพฤ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น