xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งหาต้นตอ “ซากลูกแมว” โผล่ไส้กรอกอีสาน คาดผลิตในครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
“ซากลูกแมว” โผล่ไส้กรอกหมูอีสาน ฮือฮาทั้งบุรีรัมย์ สธ.เร่งสืบหาต้นตอเส้นทางเนื้อหมู สาวยาวถึงโคราช คาดเป็นการผลิตเองในครัวเรือนมากกว่าระดับอุตสาหกรรม เตรียมแนะนำชาวบ้าปรับปรุงการผลิตใหม่ หวังสร้างความปลอดภัยอาหารและความเชื่อมั่นไส้กรอกอีสาน

วันนี้ (18 มี.ค.) นพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประจำเครือข่ายบริการที่ 9 กล่าวถึงกรณีข่าวชาวบ้าน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ซื้อไส้กรอกอีสานไม่มียี่ห้อ จากแม่ค้าในตลาดเทศบาลตำบลสตึก เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 3 ชิ้น โดยพบชิ้นที่ 3 มีซากคล้ายลูกแมวยัดอยู่ในไส้กรอก และได้เก็บซากแมวไว้บูชา ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และสืบสาวให้ถึงแหล่งผลิตไส้กรอกดังกล่าวแล้ว เพื่อปรับปรุงให้ได้มาตรฐานการผลิตอาหารและปลอดภัยตามโครงการอาหารปลอดภัยของ สธ.สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน เนื่องจากไส้กรอกอีสานเป็นอาหารประจำถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การผลิตไส้กรอกจัดเป็นการแปรรูปอาหาร มี 2 ระดับ คือระดับอุตสาหกรรมเป็นบรรจุภัณฑ์ การผลิตจะต้องได้ตามมาตรฐานจีเอ็มพี และมีตรา อย.และการผลิตในระดับพื้นบ้าน ครัวเรือน เพื่อจำหน่ายเป็นคราวๆ ซึ่งผลการเฝ้าระวังโดยสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจอย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบสารอันตรายปนเปื้อนในไส้กรอกอีสาน

ด้าน นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์ สสจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสตึก สาธารณสุขอำเภอสตึก และเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจาก สสจ.บุรีรัมย์ เดินทางไปที่บ้านของนางกรด ยอดจงรักษ์ ที่ ต.กระสัง อ.สตึก ผู้ซื้อไส้กรอกดังกล่าวไปรับประทานที่บ้านแล้ว โดยผลการตรวจดูไส้กรอกที่ยังเหลืออยู่พบว่า สิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนอยู่ในไส้กรอกมีลักษณะคล้ายซากลูกแมวตามที่เห็นดังภาพที่ปรากฏในข่าว แต่นางกรดปฏิเสธที่จะให้นำสิ่งแปลกปลอมไปตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าใช่ซากลูกแมวจริงหรืออไม่

ทั้งนี้ นางกรดได้แจ้งอีกว่าซื้อไส้กรอกดังกล่าวมาจากร้านชำในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ได้ติดตามไปที่แม่ค้าที่จำหน่ายและทราบว่า ซื้อมาจากเขียงหมูในตลาดเทศบาลอ.สตึก เจ้าหน้าที่ได้สืบสาวต่อ ได้รับแจ้งว่า รับมาจาก อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา อีกที จึงส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังแหล่งที่รับแจ้ง โดยได้ประสาน สสจ.นครราชสีมา เพื่อดำเนินการแหล่งผลิตต้นตอร่วมกัน หากเป็นโรงงานผลิตเถื่อนก็จะดำเนินการตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร แต่หากเป็นการผลิตในระดับครัวเรือน จะเน้นให้ผลิตให้สะอาด ปลอดภัย เหมือนผลิตบริโภคเองในครัวเรือน และห้ามใช้สารปนเปื้อนอันตรายใดๆทั้งสิ้น โดยคาดว่าน่าจะเป็นการผลิตในระดับครัวเรือนเองมากกว่าระดับอุตสาหกรรม

นพ.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สสจ.บุรีรัมย์ ได้เข้มงวดในการตรวจสอบสถานผลิตในระดับโรงงานให้ได้ตามมาตรฐานการผลิตจีเอ็มพี ในโครงการอาหารปลอดภัย และอบรมผู้ประกอบการทั้งร้านอาหาร และแผงลอยต่างๆให้จำหน่ายอาหาร ยึดหลักร้านสะอาด รสชาติอร่อย ผ่านเกณฑ์ไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ในปีนี้ขยายการอบรมผู้ประกอบการแปรรูปอาหารรายย่อยๆ ระดับโอทอป เช่น แจ่วบอง ปลาร้า ให้ผลิตตามมาตรฐานจีเอ็มพีขั้นต้น หรือไพรมารี จีเอ็มพี คือความสะอาดสถานที่ มาตรฐานเครื่องมือ และความปลอดภัยวัตถุดิบ ห้ามใส่สารต้องห้าม เช่น สารกันรา สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกันบูด
กำลังโหลดความคิดเห็น