xs
xsm
sm
md
lg

สธ.รณรงค์วันวัณโรคสากลหวังตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวัน “วัณโรคสากล ปี 2556” ในวันที่ 24 มีนาคม 2556 โดยมีแนวทางดำเนินงาน ดังนี้ เร่งค้นหา รีบรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันวัณโรคดื้อยา ส่วนในปีนี้มีจุดเน้นสำหรับการรณรงค์ คือ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0” หลังพบว่าในปี 2554 มีการตรวจพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทขึ้นทะเบียนรักษาแล้ว 65,800 ราย

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานรณรงค์เนื่องในวันวัณโรคสากล (World TB day) ในวันที่ 24 มีนาคม 2556 ร่วมกับ ศ.นพ.ดร.กระแส ชนะวงศ์ ประธาน มูลนิธิรักษ์ไทย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ผู้บริหารศูนย์การค้า MBK เซ็นเตอร์ และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ มีความเป็นห่วงและตระหนักถึงปัญหาวัณโรคที่มีต่อมนุษยชาติ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2554 ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 8.4 ล้านคน และตายจากวัณโรคปีละ 1.4 ล้านคน ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของสาเหตุการตายจากโรคติดเชื้อ พร้อมเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ ให้ความสำคัญต่อปัญหาวัณโรคให้มากขึ้น สำหรับประเทศไทย องค์การสหประชาชาติได้แสดงความชื่นชมยินดีกับแผนงานวัณโรคของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการบูรณาการการควบคุมวัณโรคและเอดส์ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาวัณโรคของประเทศไทยยังคงเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงของโลก โดยองค์การอนามัยโลกคาดว่ามีผู้ป่วยวัณโรคทุกชนิดทั้งรายเก่าและใหม่ประมาณ 110,000 ราย เฉพาะผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 86,000 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 9,800 ราย พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน ระดมทรัพยากรในการควบคุมวัณโรคให้ยั่งยืน

จากข้อมูลสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ในปี 2554 ที่ผ่านมา ตรวจพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทที่ขึ้นทะเบียนรักษา 65,800 ราย มีอัตราความสำเร็จในการรักษาร้อยละ 87 เสียชีวิตร้อยละ 7 และขาดการรักษาร้อยละ 3 ซึ่งรัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และกระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาวัณโรคมาโดยตลอด จึงได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ควบคุมป้องกันวัณโรคให้มีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านการเข้าถึงบริการ การรักษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยและครอบครัว พัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยวัณโรค การวิจัยพัฒนา และส่งเสริมพัฒนาภาคีเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันวัณโรคให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

นอกจากจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังพบว่าปัญหาแนวโน้มวัณโรคดื้อยาหลายขนานและวัณโรคดื้อยารุนแรง กำลังได้รับการค้นหาและตรวจพบมากขึ้น ซึ่งองค์อนามัยโลกก็ได้ประมาณการณ์เช่นกันว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยประเภทนี้ประมาณ 2,000 ราย ที่กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องรับภาระรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานเพื่อควบคุมป้องกันวัณโรค ได้ตระหนักถึงปัญหาและความรุนแรงของวัณโรคมาตลอด และในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น NGOs และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการเพื่อการลดปัญหาวัณโรคภายใต้คำขวัญเรื่อง “เมืองไทยปลอดวัณโรค TB freeThailand”

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2556 กรมควบคุมโรคได้กำหนดมาตรการจุดเน้นและกรอบการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรควัณโรค ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้คือ เร่งค้นหา รีบรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันวัณโรคดื้อยา และมีเป้าหมายของจุดเน้น คือ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0” ซึ่งหมายถึง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ต้องขัง แรงงานย้ายถิ่น เป็นต้น และเมื่อค้นพบผู้ป่วยก็ต้องเข้ารับการรักษาด้วยระบบยาระยะสั้นตามมาตรฐานสากล จนกว่าจะหายขาด โดยในปีนี้ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตให้น้อยกว่าร้อยละ 5 และการขาดยาต้องเป็นศูนย์ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิศุภมิตรแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างกระแสเชิญชวนบุคคลทั่วไปและภาคส่วนต่างๆ ร่วมมือกันหยุดยั้งวัณโรค โดยจะให้บริการตรวจสุขภาพและเอ็กซเรย์ปอดฟรี จัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรควัณโรค เกมและการแสดงบนเวทีมากมาย ณ ลานกิจกรรม MBK Avenue ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 10.30-20.30 น.

ขอแนะนำประชาชนในการสังเกตอาการของวัณโรค โดยอาการจะเริ่มจากไอเรื้อรังเกินกว่า 2 อาทิตย์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ซึ่งประชาชนมักเข้าใจผิดว่าป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา จึงมักซื้อยามากินเอง และอาการของโรคนี้จะไม่รุนแรงเฉียบพลัน ยังทำงานได้ปกติ จึงทำให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่นได้ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในเสมหะ ลอยไปในอากาศ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยใกล้บ้านเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น