xs
xsm
sm
md
lg

สอบโทอิคเด็กชายแดนใต้ผลย่ำแย่ สอศ.เร่งพัฒนาทักษะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สอศ.เดินหน้าพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ จีนมลายูกลาง เด็กชายแดนใต้ ระบุสุ่มทดสอบด้วยข้อสอบโทอิคพบยังย่ำแย่ ได้คะแนน 200 กว่าจากมาตรฐานกลาง 500

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษ (สอศ.) ได้มีการโครงการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้กับนักศึกษาใน 18 วิทยาลัยในสังกัด ที่ตั้งอยู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยเลือกส่งเสริม 3 ภาษาซึ่งนักศึกษาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง คือ ภาษาอังกฤษ จีน และภาษามลายูกลาง โดยจัดในรูปของวิชาเลือก หรือกิจกรรมเพิ่มเติมให้นักศึกษาเลือกเข้าโครงการตามความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นักเรียนจะเริ่มเรียนนั้นจะต้องมีการทดสอบระดับความสามารถทางทักษะภาษาของเด็กก่อน โดยภาษามลายูกลาง ได้มอบให้มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เป็นผู้ทดสอบ ส่วนภาษาจีนได้ขอความร่วมมือจากสถาบันภาษาขงจื้อ ช่วยทดสอบให้ ส่วนภาษาอังกฤษจะใช้ข้อสอบโทอิค (TOEIC) คะแนนเต็ม 990 คะแนน ซึ่งมหาวิทยาลัยหาดใหญ่เป็นผู้ทดสอบ ซึ่งผลการทดสอบปรากฏว่า นักศึกษาที่เข้ารับการทดสอบโทอิค จำนวน 240 คน ได้คะแนน 400 กว่าคะแนนจำนวน 3 คน ได้คะแนน 300 คะแนนขึ้นไป จำนวน 21 คน ที่เหลือกว่า 200 คน คะแนนระหว่าง 200-300 คะแนน ขณะที่ค่ามาตรฐานของคะแนนโทอิค ที่สามารถนำไปใช้ในการสมัครงานได้นั้นจะต้องได้คะแนน 500 คะแนนขึ้นไป เพราะฉะนั้น ถือว่าคะแนนทักษะภาษาอังกฤษของเด็กได้ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ส่วนคะแนนภาษามลายู ที่มีผู้เข้าสอบ 250 คน ส่วนใหญ่คะแนนอยู่ระดับกลาง และวิชาภาษาจีน คะแนนยังไม่ออก
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เรื่องทักษะภาษาเป็นจุดอ่อนมากของเด็ก 3 จ.ชายแดนภาคใต้และจุดอ่อนของเด็กในประเทศ แต่สำหรับเด็ก 3 จ.ชายแดนใต้หากเด็กมีทักษะภาษามลายูกลาง และภาษาอังกฤษดีเพียงพอ จะสามารถสื่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียได้ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอาเซียน และช่วยให้เด็กมีโอกาสหางานทำได้กว้างขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งเสริมทางภาษาให้เป็นพิเศษกับวิทยาลัยในภาคใต้นั้น จะเป็นมาตรการหนึ่งที่เราหวังว่าจะช่วยดึงเด็กในพื้นที่ ให้มาเรียนสายอาชีพมากขึ้น เพราะปัจจุบันนักเรียนในพื้นที่แค่ 15% เท่านั้น ที่เลือกเรียนต่อสายอาชีพ ส่วนใหญ่เลือกเรียนต่อสายสามัญในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รองลงมาจะเลือกเรียนต่อในโรงเรียนสังกัด สพฐ.” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากโครงการพัฒนาทักษะทางภาษาเพื่อมูลค่าให้กับวิทยาลัยทางภาคใต้แล้ว สอศ.จะพยายามทำความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อขอให้รับนักศึกษาจากวิทยาลัยใน 3 จ.ชายแดนภาคใต้ไปฝึกงานด้วย ปัจจุบันไม่ค่อยมีสถานประกอบการใน 3 จ.ชายแดนภาคใต้ให้เด็กไว้ฝึกงาน ส่วนการไปฝึกงานนอกพื้นที่นั้น ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก เพราะฉะนั้น สอศ.จึงได้ทำความร่วมมือกับสถานประกอบการใน จ.สมุทรปราการ แห่งหนึ่ง รับนักศึกษาจากภาคใต้ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมาฝึกงานระยะยาวเป็นเวลา 6 เดือน พร้อมจัดสภาพแวดล้อมตามวิถีทางศาสนาอิสลามไว้รองรับ เช่น ห้องละหมาด อาหารฮาลาล เพราะฉะนั้น สอศ.จะพยายามหาสถานประกอบการที่จะจัดฝึกงานตรมวิถีศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กในภาคใต้มีที่ฝึกงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น