สภากาชาดไทยเทงบ 2.2 พันล้านบาท สร้างศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมา เตรียมก่อสร้าง มี.ค.56 คาดเปิดผลิตได้ในปี 58 ชี้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 10,000 ลิตรต่อปี เป็น 2 แสนลิตร เชื่อลดการนำเข้าได้ปีละกว่า 1 พันล้านบาท เล็งรับซื้อพลาสมาทิ้งจากโรงพยาบาล
พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า หนึ่งในแผนการพัฒนาของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในปี 2556-2558 คือ ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 2,200 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง จัดสร้างที่ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ 15,000 ตารางเมตร จะมีการวางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้างภายในเดือนมีนาคม 2556 คาดว่าจะเริ่มมีการผลิตเพื่อจ่ายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยได้ ภายในปี 2558 โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเรื่อยๆ โดยปีที่ 1-3 ผลิต 80,000-100,000 ลิตรต่อปี ปีที่ 4-7 ผลิต 100,000-150,000 ลิตรต่อปี และปีที่ 8 เป็นต้นไป ผลิต 150,000-200,000 ลิตรต่อปี จากที่ปัจจุบันผลิตได้เพียง 10,000 ลิตรต่อปีเท่านั้น
พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวอีกว่า การจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมา เนื่องจากได้รับการร้องขอและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติควรเป็นผู้ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาให้มากขึ้น ลดการนำเข้าและให้ผู้ป่วยทุกระดับมีโอกาสเข้าถึงการใช้ยาในการรักษา เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสมาปีละ 1,000 ล้านบาท ใน 3 ชนิด ได้แก่ อัลบูมิน (Albumin) จำเป็นในการใช้รักษาโรคไต โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน, แฟคเตอร์ เอท (Factor VIII) ใช้รักษาโรคฮีโมฟีเลีย เอ และไอวีไอจี(IVIG:Intravenous Immunoglobulin) ใช้รักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
“ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศเกาหลีใต้ โดยส่งเจ้าหน้าที่ทั้งวิศวกร นักเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น จำนวน 40 คน ไปฝึกอบรมเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นเกาหลีใต้จะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 15 คน มาควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล 3 ล็อตการผลิตติดต่อกัน โดยศูนย์นี้จะเน้นการผลิตใช้ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ต้องทำเรื่องขอทิ้งพลาสมาและต้องจ้างในราคาแพง เมื่อศูนย์นี้แล้วเสร็จ ในอนาคตหากโรงพยาบาลสามารถดำเนินการเกี่ยวกับพลาสมาได้ตามมาตรฐานของสภากาชาดไทย ศูนย์ผลิตภัณฑ์จากพลาสมาจะรับซื้อพลาสมาในส่วนนี้ เพื่อให้เลือดทุกหยดที่ได้รับบริจาคเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด” ผอ.ศูนย์บริการโลหิตฯ กล่าว