xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อต้อง...ตรวจระดับการได้ยิน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

การตรวจระดับการได้ยิน เป็นการตรวจการทำงานของหู และระบบโสตประสาทเพื่อหาระดับการได้ยิน แล้วนำมาประกอบการวินิจฉัยโรค
โดยปกติแล้วระดับการได้ยินของคนปกติจะอยู่ระหว่าง -10 ถึง 25 เดซิเบล ผู้ที่มีระดับการได้ยินสูงกว่านี้ ถือว่ามีความผิดปกติของระดับการได้ยิน โดยแบ่งเป็นระดับต่างๆ ดังนี้

ระดับการได้ยิน   ความผิดปกติ
(เดซิเบล)
-10 ถึง 25 การได้ยินปกติ
26 ถึง 40 หูตึงเล็กน้อย
41 ถึง 55 หูตึงปานกลาง
56 ถึง 70 หูตึงมาก
70 ถึง 90 หูตึงอย่างรุนแรง
มากกว่า 90 หูหนวก

สำหรับการทดสอบหาระดับการได้ยิน (Pure tone audiogram) จะตรวจผ่านสองทาง คือ การนำเสียงผ่านอากาศ (Air conduction) ทดสอบโดยการครอบหูฟัง และการนำเสียงผ่านกระดูก (Bone conduction) ทดสอบโดยการวางตัวปล่อยเสียงที่กระดูกกกหู (Mastoid) จากนั้นจะปล่อยเสียงความถี่เดียว (pure tone) ที่ระดับความดังต่างๆ แล้วลดระดับลงเรื่อยๆ จนถึงระดับความดังที่เบาที่สุดที่ผู้ถูกทดสอบได้ยิน นอกจากนี้ยังมีการทดสอบระดับการได้ยินด้วยวิธีอื่นๆ อีก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม

เมื่อได้รับผลการตรวจเบื้องต้น แพทย์จะนำผลที่ได้มาประกอบการวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยมีความสูญเสียการได้ยินประเภทใด ซึ่งโดยทั่วไปอาจแบ่งได้ดังนี้

1.สูญเสียการได้ยินเฉพาะการนำเสียงผ่านอากาศ (Conductive hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง แต่หูชั้นในและระบบประสาทการได้ยินยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยจะพบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล

2. สูญเสียการได้ยินที่โสตประสาท (Sensorineural hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นในหรือระบบประสาทการได้ยิน พบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกและการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล โดยทั้งสองเส้นของระดับการได้ยินจะไม่ห่างกันเกิน 15 เดซิเบล

3. สูญเสียการได้ยินแบบผสม (Mixed hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง ร่วมกับการสูญเสียความสามารถของหูชั้นในและระบบประสาทการได้ยิน พบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกและการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล แต่ทั้งสองเส้นห่างกันมากกว่า 15 เดซิเบล แสดงว่าการนำเสียงผ่านอากาศแย่กว่าการนำเสียงผ่านกระดูก

ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียการได้ยินประเภทใด จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว ซึ่งบางครั้งอาจรักษาได้ด้วยยา หรือการผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง รวมถึงได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วย
------

พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
ร่วมสัปดาห์วันต้อหินโลก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ขอเชิญผู้สนใจร่วมงานสัปดาห์วันต้อหินโลก บริการตรวจคัดกรองโรคต้อหินพร้อมรับคำแนะนำ ฟังเสวนาจากประสบการณ์จริงของผู้ป่วย “เป็นเบาหวานก็ตาบอดจากต้อหินได้” และนิทรรศการให้ความรู้ วันที่ 7 มี.ค.นี้  เวลา 09.00-15.00 น.ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถาม โทร.0 2419 8033
กำลังโหลดความคิดเห็น