ศจย.เสนอรัฐบาลออกพระราชกำหนดแก้ พ.ร.บ.ยาสูบ ให้ผู้ปลูกยาเส้นพื้นเมืองขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพาสามิต หวังนำเข้าระบบภาษี พร้อมเก็บภาษีผู้ประกอบการยาเส้นเพิ่มอีกซองละ 1 บาท หน้าโรงงาน เชื่อเก็บภาษีเพิ่มได้กว่า 800 ล้านบาท และลดจำนวนผู้สูบได้กว่า 2 แสนคน หลังพบเยาวชนสูบยาเส้นมากขึ้น ชี้เด็กสุโขทัยสูบยาเส้นมากสุดในประเทศ
วันนี้ (5 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น.ที่โรงแรมรามาการ์เดนท์ ศ.นพประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แถลงข่าว “ภาระโรคและต้นทุนที่สูญเสียจากการสูบบุหรี่” ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพัฒฯานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่ป้องกันได้ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ โดยในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 5.4 ล้านคน โดยคาดประมาณว่าในปี 2558 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 ล้านคน ทั้งนี้ จำนวนโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 8 อันดับแรก มีถึง 6 โรคที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ สำหรับประเทศไทยพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 50,710 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีผู้เสียชีวิต 45,136 คน ขณะที่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในปี 2552 มีประมาณ 12.4 ล้านคน โดยช่วงอายุที่มีผู้สูบบุหรี่มากสุด คือช่วงอายุ 25-44 ปี จำนวน 5.77 ล้านคน ขณะที่ช่วงอายุ 15-24 ปี มีประมาณ 2 ล้านคน นอกจากนี้ การสูบบุหรี่เป็นประจำยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 3-21 เท่า และมีความเสี่ยงพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 4 เท่า
ท.พญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนกยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย เปิดเผยข้อมูลการศึกษาภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย ว่า จากการประมาณการประเทศไทยสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในปี 2552 เป็นเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.5 % ของ GDP โดยจำนวนนี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงทางการแพทย์ 10,137 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ค่าใช้จ่ายโดยอ้อมทางการแพทย์ 1,063 ล้านบาท หรือประมาณ 2% นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วยต้องขาดงานทำให้เกิดการสูญเสียผลิตภาพ 370 ล้านบาท หรือประมาณ 0.7% ผู้ดูแลผู้ป่วยขาดงานทำให้สูญเสียผลิตภาพอีก 147 ล้านบาท หรือประมาณ 0.3% การสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควร 40,464 ล้านบาท หรือประมาณ 77% โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจนี้คิดเป็น 13% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด และเมื่อคำนวณปีสุขภาวะที่สูญเสียจากการสูบบุหรี่พบว่า ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเฉลี่ย 12 ปี การสูบบุหรี่ทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควร 628,061 ปี และสูญเสียปีสุขภาวะจากการป่วยและความพิการ 127,148 ปี ซึ่งข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงภาระที่ผู้ป่วยและรัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนความสูญเสียจากโรคอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่และสัมผัสควันบุหรี่
ด้าน ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศจย.กล่าวว่า การสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ของไทยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 5 หมื่นล้านบาทนั้น เกิดจากการเจ็บป่วยของทั้งผู้ที่สูบบุหรี่แบบซองและบุหรี่มวนเอง โดยสัดส่วนของผู้สูบบุหรี่มวนเองมีมากถึง 46.5% ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด ที่สำคัญพบว่าเยาวชนอายุ 15-18 ปี มีการสูบบุหรี่แบบมวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ จ.สุโขทัย มีอัตราสูบบุหรี่แบบมวนสูงสุดในประเทศ ขณะที่เขตเมืองอย่าง กทม.มีการควบคุมยาสูบได้ดีขึ้น เยาวชนมีปริมาณการสูบเพิ่มขึ้นน้อย ส่วนมากจะเป็นเยาวชนต่างจังหวัดซึ่งหันมานิยมสูบบุหรี่แบบมวนเอง
ดร.ศิริรวรรณ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้รัฐเก็บภาษีจากบุหรี่มวนเองน้อยมาก แม้จะมีการเพิ่มภาษียาเส้นปรุงจาก 1 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อ ส.ค.2555 แล้วก็ตาม รัฐยังคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ที่สำคัญคือบุหรี่มวนเองที่ทำจากยาสูบพันธุ์พื้นเมืองได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี จึงอยากเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 เพื่อนำยาสูบพันธุ์พื้นเมืองเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเร่งด่วน โดยให้ผู้ประกอบการยาเส้นเป็นผู้เสียภาษีไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกร
“หากเป็นยาเส้นที่เกษตรกรปลูกเอง บริโภคเองจะไม่มีการเก็บภาษี แต่หากมีการส่งขายไปยังโรงงานยาเส้นเพื่อบรรจุซองขาย ก็จะเก็บภาษีหน้าโรงงานจากผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกร โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบนั้น จะเสนอให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นซองละ 1 บาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้ปีละกว่า 800 ล้านบาท และลดจำนวนผู้สูบได้ถึง 2 แสนราย รวมไปถึงให้ผู้ปลูกยาเส้นพันธุ์พื้นเมืองขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพื่อเข้าสู่ระบบการเก็บภาษีด้วย” ดร.ศิริวรรณ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถลดจำนวนผู้สุบบุหรี่ลงได้เรื่อยๆ จนเหลือประมาณกว่า 10 ล้านราย ซึ่งไม่สามารถลดจำนวนผู้สูบลงไปได้มากกว่านี้แล้ว เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการทางรัฐในเรื่องของยาเส้น หากรัฐบาลมีมาตรการดังกล่าวก็จะสามารถช่วยลดจำนวนเยาวชนเข้าถึงยาเส้นได้มากขึ้น