มศว จับมือ สสส.เปิด ร.ร.ผู้ประกอบการทางสังคม ปลายปีนี้ ดันเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบกิจการเพื่อสังคมแห่งแรกในเอเชีย หวังผลิต นศ.ขับเคลื่อนงานสังคม ทำกิจการแล้วมีกำไร และมีการตอบแทนสังคม
วันนี้ (2 มี.ค.) เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุณยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือ (MOU) "การพัฒนางานนวัตกรรมทางสังคม กิจการเพื่อสังคม และการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อนำสู่การเกิดสถาบันอุดมศึกษารับใช้สังคมต้นแบบของประเทศไทย" ร่วมกับ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า เดิมที มศว เป็นโรงเรียนฝึกหัดครู จึงมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ให้ แม้ทุกวันนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนหลากหลายสาขา แต่ปรัชญาของการเป็นผู้ให้ยังคงอยู่ จึงเดินหน้าประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้สังคม ซึ่งสอดคล้องกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ท ที่สนใจและนำแนวคิดกิจการเพื่อสังคมมาปรับเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดสอนเป็นรายวิชาหรือหลักสูตรอบรมเท่านั้น แต่บูรณาการแนวความคิดเข้ากับทุกภาคส่วน หรือเรียกว่า Socially Enterprising University
ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีสถาบันการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการบูรณาการแนวความคิดกิจการเพื่อสังคมเช่นในต่างประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะศึกษาแนวคิด และรูปแบบการดำเนินงานเพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งจะมีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับผู้ประกอบการทางสังคม (School for Social Entrepreneur) และบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนของ มศว อาทิ พัฒนารายวิชาพื้นฐาน (วิชาบังคับ) เกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม พัฒนาหลักสูตร / ภาควิชา / คณะ เพื่อเป็นต้นแบบในการเผยแพร่แนวคิดสู่เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ในการพัฒนากิจการเพื่อสังคมร่วมกัน
"ความร่วมมือกับ สสส. ในครั้งนี้ จะผลักดันให้ มศว เป็นสถาบันแห่งแรกในเอเชียที่เปิดการเรียนการสอนสำหรับผู้ประกอบการทางสังคม ซึ่งผู้ที่มาเรียนไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาใดๆ แต่จะต้องผ่านการสอบวัดแรงบันดาลใจใฝ่ดี ความคิดเพื่อสังคม หากผ่านก็สามารถเข้าเรียนได้ทันที โดยสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) จะเป็นผู้สนับสนุนค่าเล่าเรียน ส่วนในอนาคตอาจประสานไปยังบริษัทต่างๆ ที่ต้องการทำซีเอสอาร์ให้มาสนับสนุนค่าเล่าเรียน รวมไปถึงนโยบายกองทุนตั้งตัวได้ของรัฐบาล เป็นต้น" อธิการบดี มศว กล่าว
ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า การเปิดโรงเรียนสำหรับผู้ประกอบการทางสังคม เราได้ลิขสิทธิ์จากประเทศอังกฤษ คาดว่าจะสามารถเปิดรับสมัครเรียนได้ภายในปลายปีนี้ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มาเรียนจะไม่เคยเป็นเจ้าของกิจการใดๆ มาก่อน ก็จะมาเรียนรู้วิธีการทำธุรกิจ และการทำประโยชน์เพื่อสังคม ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการอยู่แล้วอาจเข้ามาเรียนเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำธุรกิจให้เป็นไปในแนวทางเพื่อสังคมมากขึ้น เพราะการเรียนตรงนี้เป็นการผสมรวมแนวคิดการทำธุรกิจแบบทุนนิยม ที่เน้นการทำกำไร และการทำธุรกิจเพื่อสังคม ทำให้กลายเป็นคำตอบสุดท้ายของรูปแบบการธุรกิจในปัจจุบันคือ กิจการต้องอยู่ได้ และมีการตอบแทนหรือให้ประโยชน์แก่สังคม
"เมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตร โดยมหาวิทยาลัยจะมีการติดตามภายหลังการเรียนด้วยว่า สามารถเปิดกิจการได้หรือไม่ ทำแล้วมีกำไร และไม่เอาเปรียบสังคมหรือไม่ ที่สำคัญพร้อมที่จะเปิดให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้วย เพราะนี่คือการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต" อธิการบดี มศว กล่าว
ทพ.กฤษดา กล่าวว่า สสส.เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการแก้ปัญหาด้านสุขภาพและสังคมต่างๆ มีการดำเนินงานร่วมกับหลายฝ่าย รวมไปถึงจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีหลายประเทศที่ใช้ Socially Enterprising University ซึ่งทำให้การช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมทำได้ดีขึ้น จึงคิดที่จะนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย จึงเป็นต้นกำเนิดแล้วการทำกิจการเพื่อสังคม แต่ก็มองว่าหาคนทำเท่าไรก็ไม่เพียงพอ เพราะขาดต้นน้ำหรือก็คือมหาวิทยาลัยในการบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ให้มีความคิดเรื่องจิตอาสา จิตสาธารณะ ทำประโยชน์เพื่อสังคม
ทพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ นำไปสู่การดำเนินงาน 3 ด้านสำคัญ คือ 1.การพัฒนา และส่งเสริม ให้นักศึกษา มศว มีจิตสาธารณะตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานเพื่อสังคม ผ่านรูปแบบอาสาสมัคร การฝึกงาน หรือจัดการเรียนการสอนร่วมกับองค์กร เพื่อนำสู่การเกิดสถาบันอุดมศึกษารับใช้สังคมต้นแบบของประเทศไทย 2.การพัฒนาองค์ความรู้ หลักสูตรการเรียนการสอนของ มศว ที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และการพัฒนางานด้านสังคม โดยสร้างความร่วมมือกับคณะ หรือภาควิชาที่มีความพร้อม และ 3.ความร่วมมือในการพัฒนาแนวคิดและรูปแบบการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย เพื่อให้ มศว ก้าวไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยต้นแบบกิจการเพื่อสังคมแห่งแรกของเอเชีย” และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างต้นแบบกิจการเพื่อสังคมที่มีความยั่งยืนขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา
ทพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สสส.จะประสานกับเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความสนใจในเรื่องกิจการเพื่อสังคมให้เข้ามาเรียนรู้ หรือมาเป็นวิทยากร บรรยายจากประสบการณ์จริงให้แก่ผู้เรียนได้รับทราบ