xs
xsm
sm
md
lg

“ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม” ครองแชมป์ถูก อย.จับปรับมากที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
อย.เผย อาหารนำเข้าพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในองุ่น และผักกาดฮ่องเต้ พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ในไอศกรีม นมผงผสมชาเขียว และซุปเต้าเจี้ยวขาวกึ่งสำเร็จรูป พบกรดซอร์บิกในผลิตภัณฑ์สำหรับทำขนม ผลิตภัณฑ์โมจิรสชาเขียว อย.เอาโทษบริษัทผู้นำเข้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหาออกจากท้องตลาดทันที พร้อมเผยพบโฆษณา ผลิตภัณฑ์อาหารอวดอ้างลดความอ้วน ลดสิว กะ ฝ้า กระชับมดลูกที่ไม่ได้รับอนุญาตเผยแพร่โผล่ในสื่อมากสุด เดินหน้าดำเนินคดีกับผู้กระทำแล้วรวม 69 ราย เป็นเงินค่าปรับรวมเกือบ 8 แสนบาท

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ในช่วงธันวาคม 2555 ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 จำนวน 46 ราย พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 จำนวน 13 ราย พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2531 จำนวน 7 ราย พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 จำนวน 2 ราย และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จำนวน 1 ราย รวมทั้งสิ้น 69 ราย คิดเป็นมูลค่า 758,500 บาท

เลขาธิการกล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอาหาร ได้เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดในกรณีต่างๆ เช่น กรณีอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ พบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชกลุ่มไพรีทอยด์ ในองุ่น และกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส ในผักกาดฮ่องเต้ พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ B.cereus ในไอศกรีมนม ผสมรสชาเขียว ซุปเต้าเจี้ยวขาวกึ่งสำเร็จรูป พบจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค staphylococcus aureus ในเนื้อไก่ ถอดกระดูกนวดน้ำเกลือแช่แข็ง ตรวจพบวิตามินเอรวมโพรวิตามินเอ ในเนยเทียม ซึ่งมีคุณภาพมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้ดำเนินคดีในข้อหานำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน พบวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล อะซีซัลเฟม-เค และโซเดียมซัยคลาเมต ในวุ้นคารจีแนนสำเร็จรูปกลิ่นกาแฟ และบ๊วยเชื่อม ตามลำดับ ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด พบกรดซอร์บิกในผลิตภัณฑ์สำหรับทำขนม ผลิตภัณฑ์โมจิรสชาเขียว ซึ่งกรดซอร์บิก เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ต้องได้รับความเห็นชอบ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตก่อนนำเข้า แต่พบว่า ผู้นำเข้ายังไม่ได้ขออนุญาต นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่างๆ ได้แก่ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมันรำข้าวจมูกข้าว โฆษณาในลักษณะช่วย ลดระดับโคเลสเตอรอล ช่วยลดการตีบตันของหลอดเลือด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างช่วยกระชับมดลูก กระชับหูรูดปัสสาวะ เพิ่มน้ำหล่อลื่นและอารมณ์ทางเพศ ช่วยทำให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง ผิวขาวอมชมพู เครื่องดื่มใยอาหาร ช่วยจับไขมันจากอาหาร ลดการดูดซึมพวกน้ำตาล ช่วยป้องกันการดูดซึมของสารก่อมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารต้องไม่โฆษณาสรรพคุณในทางยาดังที่โฆษณา และในส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ โฆษณาในลักษณะกำจัดไขมันและทำให้ผิวหนังเรียบตึงไร้รอยเหี่ยวย่น โดยโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตรวม 7 ราย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสารสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง จำนวน 2 ราย

อย่างไรก็ตาม ขอเตือนประชาชนอย่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ขออนุญาตจาก อย. ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และอย่าหลงเชื่อการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้ผลตามที่โฆษณาอวดอ้าง มิหนำซ้ำยังอาจได้รับอันตราย จากผลิตภัณฑ์นั้น หรือเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ อย.ได้มีการดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ในความรับผิดชอบของ อย.เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้กระทำผิดพร้อมรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th คลิก “ผลการดำเนินคดี” เพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวัง และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตจาก อย.แต่ไม่ขออนุญาต หรือพบการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย.โทร.1556 เพื่อ อย.จะได้ตรวจสอบและดำเนินการ ตามกฎหมายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น