xs
xsm
sm
md
lg

อย.บุกทลายร้านขายกาแฟลดอ้วน-แหล่งผลิตลูกอมแก้เมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย.โชว์ 2 ผลงาน บุกทลายร้านขายกาแฟใส่ยาลดความอ้วน ย่านตลาดใหม่ดอนเมือง และแหล่งผลิตลูกอม KISLIP ย่านทุ่งครุ อ้างสรรพคุณแก้เมา ลดกลิ่นแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เผยส่งผลิตภัณฑ์ทุกตัวส่งตรวจวิเคราะห์หาสารอันตรายแล้ว “หมอบุญชัย” เตรียมประสาน “หมอสมาน” ตรวจสอบลูกอมแก้เมาตามผับบาร์

วันนี้ (26 ก.พ.) เมื่อเวลา 11.00 น. นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) แถลงข่าวการจับกุมกาแฟลักลอบใส่ยาลดความอ้วนและแหล่งผลิตลูกอม KISLIP ย่านทุ่งครุ ที่อ้างสรรพคุณแก้เมา ช่วยลดกลิ่นแอลกอฮอล์ได้

นายพสิษฐ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ อย. และตำรวจ บก.ปคบ. ได้บุกเข้าตรวจสอบร้านค้าที่ตลาดแอร์พอร์ต (ตลาดใหม่ดอนเมือง) เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีการจำหน่ายกาแฟอันตรายจำนวน 3 ร้าน ได้แก่ ร้าน Lady Cosmetic , ร้านนา และร้านแอ๊ด พบผลิตภัณฑ์กาแฟลักลอบผสมสารไซบูทรามีน โฆษณาสรรพคุณลดความอ้วน แสดงฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่มีฉลากภาษาไทย และไม่มีเลข อย. ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ พบว่ากาแฟดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเดียวกับผลิตภัณฑ์กาแฟลดความอ้วน ซึ่งเคยถูกตรวจพบสารไซบูทรามีนปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ และอ้างว่าผลิตในประเทศไทยและส่งขายยังยุโรป อาทิ กาแฟลดน้ำหนักชื่อ “กาแฟมหัศจรรย์ 26 วันผอม” บรรจุในกระป๋องโลหะสีแดงและสีขาว กาแฟลดน้ำหนัก คาปานา L-360 กาแฟลดน้ำหนัก BASCHI SLIMMING COFFEE กาแฟลดน้ำหนัก สำหรับคนดื้อ (ลดยาก) BRAZIL POTENT SLIMMING COFFEE เป็นต้น เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางทั้งหมด มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กาแฟลดอ้วนและลูกอมแก้เมา (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
“เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท จำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจาก แสดงฉลากเพื่อลวง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท และหากผลการตรวจวิเคราะห์พบยาลดความอ้วนไซบูทรามีนจะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายพสิษฐ์ กล่าว

นายพสิษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสอบลูกอม KISLIP นั้น เจ้าหน้าที่ อย.และตำรวจ บก.ปคบ.ได้เข้าตรวจสอบบริษัท พิโก เทคโนโลยี จำกัด เลขที่ 519/400-405 ถ.ประชาอุทิศ แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กทม.ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตลูกอม KISLIP เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายรายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร KISLIP, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ORALA และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร FALICIA โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้ง 3 รายการล้วนแสดงฉลากเป็นภาษาต่างประเทศทั้งสิ้น บางผลิตภัณฑ์นำเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่นมาแสดงบนฉลาก เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางรวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเบื้องต้นอาจมีความผิดในข้อหาแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โฆษณาสรรพคุณอาหารโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผลิตอาหารปลอมมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท

นายพสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า อย.ขอยืนยันว่าผลิตภัณฑ์กาแฟที่ตรวจพบดังกล่าวไม่ได้ผลิตในประเทศไทยและไม่ได้แสดงฉลากภาษาไทย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อกาแฟดังกล่าวมาบริโภค อย่าหลงคารมผู้ขายว่าเป็นกาแฟจากต่างประเทศและสามารถลดความอ้วนได้ เพราะกาแฟเหล่านี้ อย.เคยส่งตรวจวิเคราะห์พบใส่ยาลดความอ้วนไซบูทรามีน ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ หากต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนักไม่จำเป็นต้องบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ แต่ควรควบคุมด้วยการบริโภคอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน และขอให้ผู้บริโภคพึงระลึกไว้เสมอว่า อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถช่วยบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคได้ นอกจากนี้ อย. ไม่เคยอนุญาตให้โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในทางยา จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินทองและไม่ได้ผลตามที่โฆษณาอวดอ้างแล้ว ยังอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตรายในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ อีกด้วย

ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย.กล่าวว่า อย.ได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สจจ.) ต่างๆ ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายดังกล่าวด้วยแล้ว อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารเกินจริง ขอให้แจ้งร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556 หรืออีเมล์ : 1556@fda.moph.go.th หรือส่งจดหมายไปที่ ตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเองพร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือที่ สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่พบกระทำความผิดนั้นๆ เพื่อ อย.จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า สำหรับลูกอมแก้เมานั้น ทราบมาว่ามีการจำหน่ายในตามผับบาร์ต่างๆ เรื่องนี้จะประสานให้ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ปัญหาต่อไป เพราะลูกอมดังกล่าวไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่ามีฤทธิ์ลดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจตามที่อวดอ้าง และไม่มีผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวขอขึ้นทะเบียนอาหารหรือยากับ อย.จึงขอย้ำว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเลี่ยงการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจได้ อีกทั้ง ลูกอมดังกล่าวมีการแจ้งว่าผลิตในต่างประเทศ แต่แท้จริงผลิตภายในประเทศแต่หลอกลวงผู้บริโภคด้วยการตีฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ

“ขณะนี้ อย.ได้ส่งตัวอย่างลูกอมที่จับกุมได้ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบแล้ว เบื้องต้นคงจะสามารถตรวจสอบได้เพียงว่ามีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์หรือไม่ ส่วนการจะตรวจว่าลูกอมมีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายหรือไม่ จำเป็นต้องทราบก่อนว่าลูกอมดังกล่าวมีส่วนผสมของอะไรบ้างเพื่อใช้เป็นสารอ้างอิงในการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพยายามเค้นถามส่วนผสมจากผู้ผลิต และขอเอกสารทางวิชาการในการอ้างฤทธิ์ดังกล่าว เพื่อส่งเป็นสารอ้างอิงในการตรวจทางห้องปฏิบัติต่อไป” นพ.บุญชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น