xs
xsm
sm
md
lg

แนวร่วมนิสิต-นศ.วอน “พงศ์เทพ” ถอนร่าง มก.-มธ.จากสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มแนวร่วมนิสิต นศ.ค้าน ม.นอกระบบ ตบเท้าพบ “พงศ์เทพ” วอนถอนวาระพิจารณา ร่าง ม.นอกระบบ ของ มก.-มธ. ออกจากสภา ยันมหา’ลัยยังถามความเห็นไม่ทั่วถึง ขณะที่ รมว.ศึกษาฯ เตรียมถามความชัดเจนมหา’ลัยอีกครั้ง

วันนี้ (28 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. กลุ่มแนวร่วมนิสิต นักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ประมาณ 10 คนเข้ายื่นหนังสือถึงนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ...และถอนร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ...ออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

โดย นายนิพิฐพนธ์ คำยศ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ผู้ประสานงานแนวร่วมนิสิต นักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มแนวร่วมฯ อยากขอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ถอนร่าง พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งออกจากวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก่อน และขอให้นำกลับไปทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นจากประชาคม มก.อย่างไรก็ตาม วานนี้ (27 ก.พ.) ที่ผ่านมา ทาง มก.ได้ประกาศแจ้งด้วยว่าจะมีการประชุมชี้แจงกับประชาคม นิสิต วันนี้ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น.ด้วย

ด้าน นายปรัชญา นงนุช ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สภานักศึกษา มธ.ไม่ได้คัดค้านการออกนอกระบบ แต่อยากให้ชาวมธ.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีการทำประชาพิจารณ์เฉพาะในคนส่วนน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 มีนาคมนี้ ทางผู้บริหาร มธ. ได้มีการนัดทำความเข้าใจเกี่ยวร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แก่ประชาคม มธ.อีกครั้ง ตนจึงอยากให้ถอนร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกจากการพิจารณาของสภาก่อน เพื่อให้ประชาคม มธ.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถูกจัดอยู่ในวาระการพิจารณาเร่งด่วน ลำดับที่ 4 รองจากของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) แต่ของ มธ.เพิ่งจะถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในลำดับที่ 17 ดังนั้นของมก.จึงค่อนข้างยากที่จะถอนกลับมา ส่วน มธ.นั้นยังไม่ได้ถูกบรรจุในวาระเร่งด่วนและจะมีการนัดประชุมทำความเข้าใจในประชาคมวันที่ 13 มี.ค.นี้ น่าจะชี้แจงเหตุผลได้ว่าเพราะอะไร อย่างไรก็ตาม ตนจะลองหารือไปยังประธานวิปรัฐบาล คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาล อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ทราบว่าก่อนหน้านั้นกลุ่มแนวร่วมฯ ได้เคยยื่นข้อเสนอยังประธานวิปแล้ว ซึ่งทางประธานวิป เคยมีข้อเสนอแนะให้ มก.และ มธ.กลับไปสอบถามประชาคมอีกครั้งเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยไปเป็น ม.ในกำกับของรัฐ หรือ ม.นอกระบบ ว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใดได้บ้าง

“ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งได้ยืนยันมาตลอดว่ามีความพร้อมปรับเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และได้สอบถามประชาคมอย่างรอบคอบแล้ว รัฐบาลจึงเสนอร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่เมื่อนักศึกษาบอกว่า การสอบถามความคิดเห็นอาจจะยังไม่ทั่วถึง ผมจะขอความชัดเจนไปยังมหาวิทยาลัยอีกครั้ง” นายพงศ์เทพ กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาควบคุมการขึ้นค่าหน่วยกิตนั้น การขึ้นค่าหน่วยกิตเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยและเท่าที่ดู ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดขึ้นค่าหน่วยกิตมากจนไม่มีเหตุผล ขณะเดียวกันหากนักศึกษาเห็นว่าค่าเรียนแพงเกินไป ก็สามารถเลือกเรียนที่อื่นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น