xs
xsm
sm
md
lg

เปิด วท.ใหม่สร้างเด็กช่างไม่ใช่ทางออก สภาพัฒน์แนะพัฒนาคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพัฒน์ ชี้เปิด วท.ใหม่สร้างเด็กช่างไม่ใช่ทางออก ระบุ ปชก.เกิดใหม่ลดลง แนะพัฒนาคน นวัตกรรม เสริมทักษะภาษาสำคัญสุด

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ สภาพัฒน์) กล่าวระหว่างจากการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีใจความตอนหนึ่ง ว่า สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว แต่คนในสังคมยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร ขณะเดียวกันรูปแบบการจ้างงานก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปต่างประเทศ หรือแรงงานต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศ ที่สำคัญโครงสร้างประชากรของประเทศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้นการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะตั้งวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50 แห่ง สอนด้านเทคนิค หรือ วิชาช่าง ตนเห็นว่าคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องของสังคมไทยในขณะนี้ เพราะเรามีประชากรเกิดใหม่ลดลง ขณะที่วัยแรงงานก็ก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็นิยมทำงานที่บ้าน ดังนั้นการแข่งขันในปัจจุบันคงต้องมุ่งที่คุณภาพและนวัตกรรมของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งการเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษ

“ประเทศไทยมีประชากรปี 2553 จำนวน 63.8 ล้านคน ผู้สูงอายุมี 20% ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรเด็ก เพราะฉะนั้นการเปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นต้องคิดให้รอบคอบ เพราะตลาดแรงงานของเราเล็กลง เราอาจต้องหาแนวทางการส่งเสริมอาชีพคนไทยที่เหมาะสมกับโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ส่งเสริมอาชีพของผู้หญิง ผู้สูงอายุ ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรม คงต้องคำนึงถึงการจ้างแรงงานผู้สูงอายุแล้วตั้งแต่บัดนี้ ส่วนเรื่องปัญหาแรงงานที่ลดลงก็จะเป็นโจทย์สำคัญที่ท้ายทาย ศธ.และองค์กรหลักทุกองค์กร และต้องเป็นนโยบายการศึกษาที่มองแบบข้ามชาติด้วย โดยดึงชาวต่างชาติเข้ามาเรียนมากขึ้น เพราะหากเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษแล้วมีแต่คนไทยเรียน ก็ไม่เพิ่มมูลค่าแต่อย่างใด” นางสุวรรณี กล่าว

ดร.ชุมพล พรประภา ผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการสภาการศึกษา กล่าวว่าการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติที่ช้านั้น เนื่องจากภาพรวมคุณภาพการศึกษาพื้นฐานไม่เอาไหน และผลพวงที่ไม่สำเร็จก็ไปศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปวช.(ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี ทำให้การศึกษาแย่ทั้งหมด ดังนั้น การกำหนดกรอบคุณวุฒิ ต้องกลับไปแก้ทั้งระบบ โดยเฉพาะอาชีวศึกษา ต้องเปลี่ยนหลักสูตรทั้งหมด เพราะคนที่จะผลิตกำลังคนให้ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ ภาคเอกชนมากที่สุด ยิ่งอาชีวะที่จะเกิดขึ้นใหม่ 19 สถาบัน ที่เหมือนเด็กเพิ่งเกิด ต้องพึ่งพาคนอื่น แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งก็สามารถพึ่งพาตนเอง ต้องมีสภาของสถาบันที่มีแนวทางในการกำหนดนโยบาย การทำงานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติอย่างชัดเจน โดย รมว.ศึกษาธิการ ต้องเข้ามามีบทบาทในการคัดเลือกนายกสภาสถาบัน และกรรมการสถาบัน เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาบริหารงาน อย่าเอาผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้ามาทำหน้าที่ควบคุม บริหาร ประเมิน ในกลุ่มคนเดียวกัน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 19 สถาบันที่ตั้งขึ้นมา ต้องทำคู่มือให้กรรมการเหล่านี้ ไม่ควรเอาอดีตผู้อำนวยการอาชีวะ 400 กว่าแห่ง มาเป็นนายกสถาบัน เพราะนอกจากจะไม่รู้ว่าต้องขับเคลื่อนอย่างไรแล้ว ยังเคยชินกับระบบเก่าๆ กรรมการ ต้องเป็นกลุ่มคนจากภาคเอกชน สถานประกอบมากกว่า นักวิชาการทางการศึกษา เพราะคงไม่มีใครรู้เรื่องมาตรฐาน การผลิตคนให้ตรงกับโจทย์ที่ต้องการ อาชีวะไม่รู้ดี เท่าผู้ประกอบการ

การตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ตั้งไม่ใหญ่ คนไม่เยอะ ไม่งั้นการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมไม่เกิดขึ้น และรัฐบาลต้องเข้ามาตั้งเป้าว่า กรอบดังกล่าวจะดำเนินการให้เกิดขึ้นภายในกี่ปี นอกจากนั้น ต้องมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน คนในวงการศึกษา เมื่อตัวเองทำไม่ได้ ชอบขอให้ลดมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ต้องมีการกำชับให้เข้มแข็ง” ดร.ชุมพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น