พงศ์เทพ” แจงยินดีรับฟังข้อเสนอขอแยกตัว แต่ยังไม่ทำชี้เวลานี้ขอทุ่มกำลังเรื่องปรับหลักสูตรก่อน ด้าน ทปษ.รมว.ศึกษาฯ ระบุถึงเวลาต้องปรับใหม่เพื่อให้อุดมศึกษาเข้มแข็งขึ้น 10 ปีที่ผ่านมาอุดมฯมีแต่ถอยหลังเพราะ ศธ.เป็นกระทรวงใหญ่นักการเมืองที่เข้ามาบริหารต้องดูภาพรวมทั้งหมด
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะขอแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจากการเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของ ศธ.ว่า ขณะนี้ คนที่มองเรื่องการปรับโครงสร้างศธ. คงจะมีการเสนอเรื่องเข้ามา ซึ่งตนก็รับฟัง เพียงแต่ในขณะนี้ ศธ.อยู่ในขั้นตอนรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ไว้ แต่การจะขับเคลื่อนอะไร คงเป็นหลังจากที่ได้ดำเนินการปรับหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนอยากทุ่มเทกำลังไปตรงนั้นก่อน
ส่วนที่ ทปอ.มองว่าหลังจากที่มีการรวมอุดมศึกษาไว้ที่ ศธ.ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น ความเป็นอิสระในการบริหารจัดการก็น้อยลง ขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ก็ล่าช้า ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้ส่งคนที่ดีหรือดีที่สุดมาดูแลอุดมศึกษานั้น นายพงศ์เทพ กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกัน สมัยเดิมที่เป็นทบวงมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทั้งหมดก็เป็นหน่วยงานของรัฐ และตอนนี้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของ รัฐเกือบหมดแล้ว และกำลังทยอยออกนอกระบบอีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการปรับโครงสร้างก็คงไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นอิสระ ของมหาวิทยาลัย
ด้าน ศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หาก ทปอ.มอบให้ตนดูแลเรื่องนี้ก็ยินดี โดยเห็นว่าการ เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามความเหมาะสม รวมถึงดูสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก อย่าง เช่นในหลายประเทศของทวีปยุโรป และบางประเทศในเอเชีย ก็มีการแยกอุดมศึกษา ออกจาก ศธ.เพราะการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แตกต่างกับขั้นพื้นฐาน เพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการเตรียมพร้อมประชากรเพื่อก้าวสู่สังคม ส่วนอุดมศึกษาเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับวิชาชีพชั้นสู และมีหน้าที่สำคัญ คือการสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงควรแยกอุดมออกมาต่างหาก เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัว การจับมารวมกันไว้ภายใต้ ศธ.ทำให้การทำงานไม่มีความชัดเจน
“วันนี้ ศธ.ต้องกลับมาทบทวนและต้องออกแบบโครงสร้างใหม่ ให้การทำงานมีความเข้มแข็ง ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่ทปอ.ระบุว่า ฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้ส่งคนที่ดี หรือดีที่สุดมาดูแลอุดมฯ จนทำให้ที่ผ่านมาอุดมศึกษามีแต่แย่ลงเรื่อยๆ นั้น ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะนักการเมืองที่เข้ามาดูแลศธ. ก็จะต้องมาดูในภาพกว้าง เพราะ ศธ.เป็นกระทรวงที่ใหญ่ ดังนั้นส่วนใหญ่ จึงไม่ค่อยสนใจอุดมฯ ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมาอุดมศึกษาจึงมีแต่ถอยหลัง ทั้งในแง่ของปริมาณงานวิจัย และคุณภาพทางวิชาการก็แย่ลงทุกวัน” ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าว