ศิริราช ผุดไอเดีย โครงการ “APIA-MRI Network” เครือข่ายในการเข้าถึงข้อมูลการตรวจวินิจฉัยภาวะเหล็กเกินอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล และศูนย์การแพทย์ ทั้งในและประเทศในภูมิภาคเอเชีย ให้สามารถส่งภาพสแกน เพื่อประเมินหาค่าภาวะเหล็กเกิน นับเป็นการลดช่องว่างของการเข้าถึงเทคโนโลยี
รศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชา กุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ “APIA-MRI Network” ว่า เกิดจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชกับ 2 สถาบันหลักในต่างประเทศ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และโรงพยาบาลเด็กแห่งนครลอสแองเจอร์ลิส โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาล และศูนย์การแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้เข้าถึงการตรวจประเมินวิเคราะห์าภาวะเหล็กเกินในอวัยวะภายในอย่างได้ผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแนวทางการรักษาภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคเหล็กเกินพันธุกรรมและภาวะเหล็กเกินจากการได้รับเลือดในโรคอื่นๆ
เนื่องจากในปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์ไอ เพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะเหล็กเกินที่อยู่ในอวัยวะภายในที่สำคัญแล้วอย่างแพร่หลาย ขณะที่ผู้ป่วยในประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าว เพราะการใช้โปรแกรมในการวิเคราะห์มีราคาค่อนข้างสูง การจะนำโปรแกรมมาใช้งานต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายปีทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการในการวิเคราะห์เกี่ยวกับภาวะเหล็กเกินในอวัยวะภายในได้อย่างทั่วถึง และอาจทำให้การรักษาโรคจากภาวะเหล็กเกินไม่ได้ผลเท่าที่ควร
อีกประการคือ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ภาพที่ได้จากการสแกน ยังมีไม่เพียงพอและถึงแม้จะมีศูนย์การแพทย์ให้บริการแต่ก็มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ทั้งค่าบริการใช้เครื่องเอ็มอาร์ไอ และการวิเคราะห์ภาพ ดังนั้น แนวคิดของ โครงการ “APIA-MRI Network” ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมีความมุ่งหวังให้โรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสถาบันทางการแพทย์ ที่ยังขาดแคลนทั้งโปรแกรมฯ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ได้สมัครเข้ามาอยู่ในเครือข่ายโครงการ “APIA-MRI Network” เพื่อใช้เทคโนโลยีร่วมกัน โดยล่าสุด ทางโครงการ ได้เปิดเว็บไซต์ www.apia-mri.com เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ โดยโครงการจะทำการตรวจวิเคราะห์ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อลดช่องว่างของผู้ป่วยในการเข้าถึงข้อมูลการตรวจวินิจฉัยภาวะเหล็กเกินในอวัยวะสำคัญอย่างได้ผล
โครงการ “APIA-MRI Network” นับเป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก ที่ยังไม่เคยมีลักษณะนี้มาก่อน สำหรับโปรแกรมการวิเคราะห์ภาวะเหล็กเกินที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ได้พัฒนาขึ้นใช้เองได้สำเร็จนี้นับเป็นโปรแกรมที่ได้รับการตรวจยืนยันโดยผู้เชี่ยวชาญและมีผลงานการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมาแล้วหลายฉบับ อนึ่งโปรแกรมการวิเคราะห์นี้ได้รับการจดลิขสิทธิ์ในนามของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น โรงพยาบาล หรือสถาบันทางการแพทย์แห่งใด ที่มีความสนใจเข้าร่วมในโครงการ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดการสมัครเข้าโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดทั้งสิ้น รวมทั้งทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีทุนที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในเบื้องต้นให้กับโรงพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมในโครงการอีกด้วย เพราะเชื่อว่าถ้ามีสมาชิกเข้ามาอยู่ในเครือข่ายโครงการ “APIA-MRI Network” มากๆ จะทำให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม โดยล่าสุด มีหลายโรงพยาบาลแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการบ้างแล้ว ได้แก่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลภูมิพล สำหรับสถาบันทางการแพทย์ในต่างประเทศที่ให้ความสนใจได้แก่ สถาบันทางการแพทย์ในประเทศอินโดนีเซีย ให้ความสนใจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3 สถาบัน และที่ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย และฮ่องกง แสดงความสนใจและมีการติดต่อเข้ามาระดับหนึ่งแล้ว
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ สาขาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีการพัฒนาแนวทางการการวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยเทคโนโลยีเครื่องเอ็มอาร์ไอมาร่วม 10 ปี ทำให้สามารถนำประสบการณ์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และผู้ป่วยที่มีภาวะเหล็กเกินที่สะสมในอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตับ หรือ หัวใจ ซึ่งหัวใจนับเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ถ้าไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยภาวะเหล็กเกินที่ถูกต้อง และรวดเร็ว คนไข้จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะแนวทางการตรวจหาภาวะเหล็กเกินในสมัยก่อนแพทย์ใช้วิธีเจาะเลือดเพื่อวัดระดับ ซีรั่มเฟอไรติน ซึ่งบางครั้งก็มีความคลาดเคลื่อน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเครื่องเอ็มอาร์ไอตรวจหาภาวะเหล็กเกินที่หัวใจ นับว่าเป็นวิธีหนึ่งที่มีความแม่นยำสูง เป็นกุญแจสำคัญที่จะตรวจหาภาวะเหล็กเกินที่หัวใจ และใช้ข้อมูลนี้ประกอบการรักษาเพื่อป้องกันผู้ป่วยจากภาวะหัวใจล้มเหลว รวมทั้งผลการรักษาจะทำได้รวดเร็วและได้ผลดี เช่นเดียวกับแนวทางการรักษาผู้ป่วยจากภาวะเหล็กเกินในประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีการติดตามการรักษาอย่างได้ผล
ด้าน ผศ.ดร.ไพรัช สายวิรุณพร สาขารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังจากทีมงานได้ภาพสแกนจากเครื่องเอ็มอาร์ไอของโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกที่ส่งเข้ามาผ่านเครือข่ายโครงการ “APIA-MRI Network” แล้วก็จะทำการวิเคราะห์ภาพดังกล่าวด้วยโปรแกรมการตรวจวินิจฉัยหาภาวะเหล็กเกินที่พัฒนาขึ้นเพื่อประเมินหาค่าภาวะเหล็กเกินในหัวใจและตับ เพื่อที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะได้ใช้ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวมาประกอบการรักษาผู้ป่วยทำให้การรักษามีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น การสแกนมีความปลอดภัยและใช้เวลาไม่นาน โดยสถิติปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 150 คนต่อปี