xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์! ฟ้องผู้ประกอบการทำผิด กม.เหล้า พร้อมกันทั่วประเทศ 14 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.หนุนบังคับใช้ร่าง กม.ห้ามขายเหล้าบนทางก่อนสงกรานต์ เชื่อ ช่วยลดการซดน้ำเมาและเกิดอุบัติเหตุได้ ด้าน ปลัด สธ.ส่งหนังสือเวียนแจ้ง สสจ.ทุกจังหวัดเตรียมฟ้องผู้ประกอบการทำผิดโฆษณาเหล้าพร้อมกันทั่วประเทศ 14 ก.พ.นี้

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันหยุดราชการต่อเนื่อง 5 วัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 12-16 เม.ย.2556 นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการออกมาตรการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุควบคู่ไปด้วย เพราะวันหยุดมีมาก โอกาสเกิดอุบัติเหตุยิ่งสูง โดยอาจใช้วิธีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่และจริงจัง เพื่อลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน อย่างที่เห็นได้ชัดทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถกระบะ หรือดื่มสุราระหว่างขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย ดังนั้น เมื่อมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้ง 2 ฉบับแล้ว ได้แก่ 1.การห้ามขายหรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการ โรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน หลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 สิงหาคม 2555 และ 2.เรื่องการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่บนรถทุกประเภท โดยจะมีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้วันที่ 8 สิงหาคม 2555 ก็ควรมีการนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง

แต่กฎหมายที่จะช่วยได้มาก คือ ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการรอพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะช่วยลดการเข้าถึงการดื่มได้มาก อย่างไรก็ตาม หากผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ทันช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาจต้องบังคับใช้ด้วยกฎหมายเดิมที่มี อาทิ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่ห้ามขายของทุกประเภทบริเวณริมทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบมากกว่ากฎหมายห้ามขายเหล้าบนทาง ซึ่งจำกัดเฉพาะการห้ามขายเหล้าเพียงอย่างเดียว” นพ.สมาน กล่าว

นพ.สมาน กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเฝ้าระวังการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ล่าสุด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ได้ส่งหนังสือเวียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศแล้ว ให้มีการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้แจ้งความกล่าวโทษพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 14 ก.พ.นี้ เนื่องจากเป็นวันบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวครบรอบ 5 ปี ซึ่งจะช่วยลดการกระทำผิดเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการตลาดได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ก็จะมีการดำเนินการเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น