xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ม.ธรรมศาสตร์ จี้ “พงศ์เทพ” ดันเข้าสู่สภาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
มติ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มธ.“สมคิด” ยันเปลี่ยนสถานะแต่ยึดหลักการเดิม คือ ไม่แสวงหากำไร มั่นใจไม่มีใครออกมาประท้วงอีกเหตุได้เห็นตัวอย่างจาก มหา’ลัยอื่นๆ แล้ว พร้อม จี้ “พงศ์เทพ” ดันร่าง ม.นอกระบบที่ค้างสภาฯ

วันนี้ (5 ม.ค.) ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ...เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ รอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยของตนเอง เนื่องจากเคยผ่าน ครม.มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน รวมทั้งเคยผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว ซึ่งแต่ละกระบวนการเป็นช่วงก่อนที่ตนจะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี มธ. แต่เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาลไปมา จึงทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังไม่ได้ถูกนำเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.มธ.ผ่านตามขั้นตอนทั้งหมด และมีผลบังคับใช้เป็นทางการ ซึ่งจะทำให้สถานะของ มธ.เปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยรัฐ ไปสู่การเป็น ม.ในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแล้ว แต่ขอยืนยันว่า มธ.ยังยึดหลักการเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่แสวงหากำไรเช่นเดิม โดยขณะนี้คิดว่าคน มธ.ส่วนใหญ่เห็นด้วย และไม่มีใครคัดค้านการออกนอกระบบแล้ว เพราะขณะนี้บุคลากรกว่า 60% เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เหลือเพียง 40% ที่ยังเป็นข้าราชการ และหากร่าง พ.ร.บ.ผ่านสภาฯ แล้ว ก็เชื่อว่า มีข้าราชการหลายคนยินดีเปลี่ยนสถานไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เพราะจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น 1.5-1.7 เท่าตาม ที่รัฐบาลกำหนด ส่วนกรณีที่มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้านการออกนอกระบบของมธ.นั้น ที่ผ่านมาตนได้ทำความเข้าใจกับนักศึกษากลุ่มดังกล่าวแล้ว ซึ่งเข้าใจว่า นักศึกษาจะกังวลเรื่องการขึ้นค่าหน่วยกิต โดยตนได้ชี้แจงไปชัดเจนว่าการออกนอกระบบกับการขึ้นค่าหน่วยกิตถือเป็นคนละ เรื่องกัน และนักศึกษาก็เข้าใจแล้ว

“เชื่อว่า คน มธ.จะไม่คัดค้านการออกนอกระบบ เพราะขณะนี้มีมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปจำนวนมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเห็นแล้วว่า มีผลดีมากกว่าผลเสีย ทำให้มหาวิทยาลัยเกิดความคล่องตัวในเรื่องการบริหารจัดการ งบประมาณ แต่คิดว่ากว่าร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะผ่านสภาฯคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ดังนั้น ผมจึงอยาก ขอให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ค้างอยู่ในสภาฯให้ผ่าน โดยเฉพาะของ มธ.เพราะร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐส่วนใหญ่ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกา เรียบร้อยแล้ว ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้พัฒนาตนเอง ให้สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติได้” อธิการบดี มธ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น