xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ควรทำ...ถ้าไม่อยากให้ลูกติดเกม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
โดย...รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

ปัจจุบันเด็กกับคอมพิวเตอร์และการเล่นเกม ดูจะเป็นของคู่กัน ที่นับวันจะแยกกันยาก ปัญหานี้พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถช่วยแก้ไขได้ ด้วยการไม่ทำสิ่งเหล่านี้

1. ไม่ตั้งกติกาก่อนซื้ออุปกรณ์เล่นเกมให้ การที่ผู้ปกครองซื้ออุปกรณ์เล่นเกมให้ลูก โดยไม่ได้มีการตั้งกติกาการเล่นเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ผู้ปกครองควรมีการสร้างกติการ่วมกันกับเด็กก่อน ว่า เด็กสามารถเล่นเกมได้วันไหนบ้าง เวลาไหนบ้าง เล่นได้ครั้งละไม่เกินกี่ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาใดถึงเวลาใด ก่อนจะเล่นจะต้องรับผิดชอบทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อยก่อน หากไม่รักษากติกาจะต้องถูกทำโทษอย่างไร (แนะนำให้ใช้วิธีงดเกม หรือลดเวลาในการเล่นเกมลง) จะเป็นการยากมากที่จะมาตั้งกติกากันภายหลัง หลังจากที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว

2. ใช้เกมเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองที่งานยุ่งอาจจะคิดว่าการให้เด็กอยู่บ้านเล่นเกม หรือไปอยู่ร้านเกมน่าจะปลอดภัย ตัวเองจะได้มีเวลาส่วนตัวเพื่อไปทำอย่างอื่น ขอบอกว่าความคิดนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง หลายครอบครัวกว่าที่พ่อแม่จะรู้ตัว ลูกก็ติดเกมงอมแงมไปเสียแล้ว

3. ดีแต่บ่น แต่ไม่เคยเอาจริง สิ่งที่พ่อแม่มักจะทำเสมอแต่เป็นวิธีที่ไม่เคยได้ผล คือ การดีแต่บ่น เช่น “เล่นนานไปแล้ว” “เลิกได้แล้วนะ” “เมื่อไหร่จะเลิกซักที” การพูดบ่อยๆ นอกจากจะไม่ค่อยได้ผลแล้ว ยังทำให้ลูกเกิดความรู้สึกว่า “บ่นอีกแล้ว...รำคาญ” ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้ลูกไม่อยากคุยและไม่อยากเจอหน้าพ่อแม่ เพราะคิดว่าจะต้องโดนดุ การพูดน้อยแต่ทำจริงตามกติกาที่ตกลงกันไว้เป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าเสมอครับ

4. ใจอ่อน ธรรมชาติของเด็กมักจะชอบต่อรองกับพ่อแม่เสมอเมื่อหมดเวลาเล่น โดยมักจะพูดว่า “แป๊บนึง...ขออีก 10 นาทีน่า จะจบเกมแล้ว” ไปๆ มาๆ 10 นาทีที่ว่าก็อาจลากยาวเป็นครึ่งชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงเลยก็เป็นได้ ซึ่งพอต่อรองได้ครั้งหนึ่งก็มักจะมีครั้งต่อๆ ไป เพราะเด็กเค้ารู้ว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง การใจอ่อนอย่างนี้ไม่ได้มีผลเสียกับเรื่องเล่นเกมเท่านั้นนะครับ แต่จะมีผลต่อกฎเกณฑ์ทุกอย่างในบ้าน ถ้าลูกรู้ว่าคุณจะใจอ่อนแล้ว เป็นเรื่องยากที่เขาจะทำตามกฎกติกาที่วางไว้ เพราะคิดว่าจะมาต่อรองเอาทีหลังได้ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการรักษาระเบียบวินัยในตัวเองของเขาในระยะยาว

5. ไม่เสมอต้นเสมอปลาย คุณอาจเคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ได้ แต่ก็เป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ตั้งกฎว่าอย่าเล่นเกมเกิน 2 ชั่วโมง แต่ก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งอาจเป็นเพราะความใจอ่อนของคุณ หรือความที่คุณไม่มีเวลา สุดท้ายแล้วกฎเกณฑ์เหล่านั้นก็จะไร้ความหมาย ไม่ต่างกับการใจอ่อนยอมให้ทุกครั้งเลยครับ

6. ความขัดแย้งกันเองระหว่างผู้ปกครอง เมื่อลูกขอเล่นเกม คุณแม่อาจจะไม่ให้ แต่คุณพ่ออาจตามใจ เวลาเกิดความขัดแย้งกันอย่างนี้ เด็กๆ ก็มักเลือกเข้าข้างฝ่ายที่ให้ประโยชน์กับเขามากที่สุด ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ได้ เช่น เขาอาจรู้สึกว่าแม่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขา เป็นศัตรูกับเขาไปเลย ในเรื่องนี้พ่อแม่ควรมีจุดยืนร่วมกันนะครับ ว่าจะวางกฎกติกาของบ้านอย่างไร และตัวเด็กๆ เองก็ต้องมีส่วนร่วมในการวางกฎกติกาด้วยนะครับ

7. ละเลยการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว หลายครอบครัวที่มีลูกติดเกม พบว่ามักจะเป็นครอบครัวที่พ่อ แม่ ลูกอยู่กันคนละทิศละทาง ต่างคนต่างอยู่ แต่ละคนง่วนอยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ไม่ค่อยได้มีการทำกิจกรรมสนุกสนานด้วยกัน ดังนั้นพ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมทำยามว่าง เป็นกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินไม่แพ้การเล่นเกม หรือมากกว่าการเล่นเกม ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ และสามารถร่วมกันทำกิจกรรมนั้นๆ ได้ทั้งครอบครัว เพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อ แม่ ลูก

ลองทำดูนะครับ บนพื้นฐานของเมตตา กรุณา และความอดทน ผมเอาใจช่วยครับ

---------
ประชาสัมพันธ์

นิทรรศการสัปดาห์วันมะเร็งโลก
สถานวิทยามะเร็งศิริราช ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมนิทรรศการสัปดาห์วันมะเร็งโลก ในหัวข้อ
“ปากมดลูกที่ควรห่วง พ่วงนมที่ควรรักษ์” พบความรู้มากมายในการดูแลตนเองฟรี และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ระหว่างวันนี้ถึง 8 กุมภาพันธ์ศกนี้ เวลา 10.00-14.00 น.ณ โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช

ลดปัญหาเด็กติดเกม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมอบรมในโครงการ “เกมสมดุล ชีวิตสมดุล” เพื่อปรับพฤติกรรมและลดปัญหาเด็กติดเกม ทุกวันเสาร์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2556 จำนวน 8 ครั้ง เวลา 09.00-11.30 น.หรือ 13.00-15.30 น.ณ โรงพยาบาล ศิริราช โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สมัครและสอบถามได้ที่ โทร. 0 2419 4275, 08 5843 0220
กำลังโหลดความคิดเห็น