สธ.ตั้งคณะกรรมการติดตามการบริหารงบลงทุนก่อสร้าง และจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ จากโครงการเงินกู้ดีพีแอลวงเงินกว่า 3,400 ล้านบาท และงบค่าเสื่อมในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 4,800 ล้านบาทของ รพ.ทั่วประเทศ ย้ำให้เกิดความโปร่งใส และจัดซื้อตามความต้องการในพื้นที่จริง
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2556 ว่า สธ.มีนโยบายกระจายอำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อเป็นไปตามโครงการพัฒนาบริการสาธารณสุขที่แบ่งเป็น 12 เครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถจัดบริการทางการแพทย์ได้ตามมาตรฐานเดียวกัน ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และเกิดความชัดเจนในการดำเนินการที่โปร่งใส เป็นธรรม เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะงบลงทุนจากงบเงินกู้ดีพีแอล วงเงิน 3,426 ล้านบาท และงบค่าเสื่อมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วงเงิน 4,858 ล้านกว่าบาท เพื่อก่อสร้างอาคารบริการต่างๆ และจัดซื้อคุรุภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ได้มอบนโยบายว่าจะต้องเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่ ไม่มีการยัดเยียดซื้อไปจากส่วนกลางอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ถูกต้องแล้ว ยังไม่เป็นประโยชน์กับพื้นที่
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การบริหารงบค่าเสื่อมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้รับจัดสรร 4,858 ล้านกว่าบาทในปีนี้ ได้แบ่งงบเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย 1.ระดับประเทศร้อยละ 10 ซึ่งพิจารณาอนุมัติรายการโดย สธ.วงเงิน 485 ล้านกว่าบาท 2.ระดับเขต ร้อยละ 20 วงเงิน 971 ล้านกว่าบาท 3. ระดับจังหวัด ร้อยละ 20 วงเงิน 971 ล้านกว่าบาท และ 4.ระดับหน่วยบริการร้อยละ 50 วงเงิน 2,429 ล้านกว่าบาท การบริหารจัดการในระดับประเทศ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการบริหารจัดการ 1 ชุด มี นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ส่วนระดับเขตให้คณะกรรมการพิจารณาระดับเขตในเบื้องต้น โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่กำกับดูแลให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณางบค่าเสื่อมและเกณฑ์การจัดสรร และสอดคล้องกับการแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยให้ส่งให้คณะอนุกรรมการพัฒนาการบริหารจัดการงบค่าเสื่อมฯ พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ภายในวันที่ 18 ก.พ.นี้
ทั้งนี้ สธ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณางบค่าเสื่อมและเกณฑ์การจัดสรรไว้ดังนี้ คือ 1.ชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ทดแทนส่วนขาด และซ่อมบำรุงสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพหรือถดถอย หรือเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ดังเดิม และ 2.การขอสนับสนุนงบค่าเสื่อมในสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ จะต้องไม่เป็นการนำไปสู่การเพิ่มต้นทุน และทำให้เกิดภาระในการดูแลรักษาที่มีผลกระทบกับสถานการณ์ด้านการเงินการคลังของหน่วยบริการนั้นๆ โดยหลักเกณฑ์การจัดสรรได้กำหนดหากเป็นรายการครุภัณฑ์ ต้องมีราคาต่อหน่วยไม่มากกว่า 10 ล้านบาท กรณีสิ่งก่อสร้าง ต้องมีราคาต่อหน่วยไม่มากกว่า 40 ล้านบาท หากเกินวงเงินที่กำหนด ต้องมีเงินสมทบจากพื้นที่